วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ประวัติความเป็นมาของชาวไทยอีสาน

ประวัติความเป็นมาของชาวไทยอีสาน

ประวัติความเป็นมาของชาวไทยอีสาน
๑. ชุมชนอีสานสมัยก่อนประวัติศาสตร์
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในบริเวณแอ่งสกลนคร (บริเวณลุ่มน้ำสงคราม จังหวัด
อุดรธานี และสกลนคร) และแอ่งโคราช (จากเทือกเขาภูกระดึง เทือกเขาภูพานลงมาจนถึง
บริเวณลุ่มน้ำมูล น้ำชี) พบว่ามีชุมชนโบราณในภาคอีสานเมื่อราว ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว บริเวณแอ่ง
สกลนครมีหลักฐานว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ก่อนแหล่งอื่น มีความเจริญทางด้านเทคโนโลยีในการ
ทำเครื่องมือเครื่องใช้ในชิวิตประจำวัน เช่น ภาชนะดินเผา เครื่องมือสำริด เครื่องประดับลูกปัด
เป็นต้น ที่เรียกกันว่า วัฒนธรรมบ้านเชียง ส่วนบริเวณแอ่งโคราช ก็ปรากฏชุมชนโบราณ
เช่นเดียวกัน ปรากฏหลักฐานเช่น ภาพเขียนสีแดงที่ผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น (ธวัช
ปุณโณทก. ๒๕๔๔ ก : ๑-๕)





๒. ชุมชนอีสานสมัยประวัติศาสตร์
ในการพิจารณาจำแนกยุคสมัยประวัติศาสตร์และยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น โดยทั่วไป
จะยึดเกณฑ์การมีตัวอักษรใช้ในสังคมนั้นๆ (ธวัช ปุณโณทก. ๒๕๔๔ ก : ๕) แต่ในกรณีภาค
อีสานนี้ มีปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากพบว่า มีการใช้ตัวอักษรหลายรูปแบบ กล่าวคือ ในยุค
แรกๆ มีการใช้อักษรปัลลวะ (อักษรคฤนท์ หรือ อักษรอินเดียใต้) เขียนภาษาสันสกฤตและ
ภาษาขอม ส่วนในยุคสุดท้าย ใช้อักษรตัวธรรมและอักษรไทยน้อย บันทึกภาษาไทยอีสาน
(ภาษาไทย-ลาว)

ปัญหาสำคัญคือ นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี ไม่อาจจะชี้ชัดได้ว่า กลุ่มชนที่
สร้างศิลาจารึก (อักษรปัลลวะ อักษรขอมโบราณ) ในยุคต้นๆ นั้น เป็นชนชาติไทยที่สืบ
เผ่าพันธุ์และวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องมาเป็นกลุ่มไทยลาวในปัจจุบันหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่ปรากฏ โดยไม่คำนึงว่าเป็นของใคร อาจ
แบ่งเป็น ๓ ยุค ดังนี้

๑. ยุคร่วมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖)
จากการศึกษาศิลาจารึกที่พบในภาคอีสานในยุคนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องทางพุทธ
ศาสนา ส่วนใหญ่จารึกด้วยอักษรปัลลวะ เป็นภาษาสันสกฤต เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากอินเดีย
เช่น ใบเสมาหินทรายแดงที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ และวัดกุดโง้ง จังหวัดชัยภูมิ
เป็นต้น
๒. ยุคอิทธิพลขอมสมัยพระนคร (พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘)
อาณาจักรขอมสมัยพระนครได้เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดและสามารถแผ่อิทธิพลอย่าง
กว้างขวางนั้น น่าจะเริ่มในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๑ (พ.ศ. ๑๕๔๓-๑๕๙๓) ได้เข้า
ครอบครองภาคอีสาน รวมทั้งภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย จนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่
(พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๒) ขอมได้สร้างอาณาจักรอย่างยิ่งใหญ่ ได้ระดมสร้างปราสาทหินอัน
เลื่องชื่อของขอม เช่นนครวัด (อังกอวัด) นครธม (บายน) ส่วนในภาคอีสานก็มีหลาย
ปราสาท ที่สำคัญ เช่น เขาพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมาย เป็นต้น รูปแบบอักษรขอมโบราณที่พบ
ในศิลาจารึกต่างๆ พบว่าได้คลี่คลายมาจากอักษรอินเดีย (อักษรปัลลวะ) และค่อยวิวัฒนาการ
มาเป็นอักษรขอมบรรจงและขอมหวัด

๓. ยุควัฒนธรรมไทยลาว (พุทธศตวรรษที่ ๑๙-ปัจจุบัน)
หลังสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ขอมเสื่อมอำนาจลง ชุมชนในภาคอีสานจึงน่าจะเป็น
กลุ่มเล็กๆ และไม่สืบทอดวัฒนธรรมขอมอีก (ธวัช ปุณโณทก. ๒๕๔๔ ก : ๑๒) เป็นการ
สิ้นสุดวัฒนธรรมขอมโบราณโดยสิ้นเชิง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่พบการก่อสร้างหรือ
จารึกใดๆ ในช่วง ๒๐๐-๓๐๐ ปีจากนั้นมา ขณะเดียวกัน ได้พบร่องรอยของกลุ่มชนที่มี
วัฒนธรรมแบบใหม่เข้ามาแทนที่ นั่นคือ จารึกวัดแดนเมือง จังหวัดหนองคาย (พ.ศ. ๒๐๗๓)
เป็นอักษรไทยน้อย จึงสันนิษฐานว่าเป็นวัฒนธรรมไทยลาว ซึ่งรวมตัวเป็นปึกแผ่นในสมัยพระ
เจ้าฟ้างุ้ม (พ.ศ. ๑๘๙๖) เป็นต้นมา

วัฒนธรรมไทยลาว เริ่มก่อตัวมั่นคงอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง เช่น เมืองปากห้วยหลวง
(อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย) เมืองโคตรบูรณ์ (อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม)
รวมทั้งเมืองหนองหาน (จังหวัดสกลนคร) และค่อยกระจายมาสู่ที่ราบสูงตอนกลาง

๓. การจัดตั้งชุมชนกลุ่มวัฒนธรรมไทยลาว ในแอ่งสกลนคร
ในราวพุทธศตวรรษที่๑๙ มีกลุ่มชนรวมกันเป็นนครรัฐที่บริเวณลุ่มน้ำโขงตอนเหนือ
และลุ่มแม่น้ำอู (เมืองแถนและเมืองเชียงคงเชียงทอง) มีความรุ่งเรืองเป็นที่รู้จักของสุโขทัย
เพราะปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กล่าวว่า
"...ทั้งมากาวลาวและไทยเมืองใต้หล้าฟ้าฏ...ไทชาวของชาวอูมาออก..." หรือ "...เท่าฝั่ง
ของ เถิงเวียงจันเวียงคำเป็นที่แล้ว..." หรือ "...พ้นฝั่งของเมืองชวาเป็นที่แล้ว..."
(กรมศิลปากร. ๒๕๒๖ : ๕๒-๕๙) แสดงให้เห็นว่าชาวเมืองสุโขทัยรู้จักชุมชนทางลุ่มแม่น้ำโขง
เป็นอย่างดี หลังจากนั้น ในจารึกสมัยพระเจ้าลิไท ได้กล่าวถึงอาณาจักรนี้ว่า
"...(เขตเมืองสุโขทัย)...เบื้องตะวันออก...เถิงแดนพระญาฟ้าง้อม..." (งุ้ม)

สมัยพระเจ้าฟ้างุ้ม (พ.ศ. ๑๘๙๖-๑๙๑๖) มีการขยายอาณาเขตของอาณาจักรล้านช้าง
อย่างกว้างขวาง และเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในเวลาต่อมาคือรัชสมัยพระเจ้าสามแสนไทย (พ.ศ.
๑๙๑๖-๑๙๕๙) โดยในระยะแรกได้แพร่กระจายชุมชนในบริเวณแอ่งสกลนคร เฉพาะบริเวณลุ่ม
แม่น้ำโขง มีขอบเขตตั้งแต่จังหวัดเลย (เมืองหล่ม เมืองเลย ปากเหือง เชียงคาน ด่านซ้าย)
จังหวัดหนองคาย (เมืองเวียงคุก เมืองปากห้วยหลวง) จังหวัดอุดรธานี บริเวณอำเภอบ้านผือ
จนถึง ตำบลหนองบัวลำภู จังหวัดสกลนครและนครพนม (เมืองโคตรบอง) พงศาวดารลาวมัก
กล่าวถึงหัวเมืองที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนพงศาวดารไทยได้
กล่าวถึงหัวเมืองสำคัญของล้านช้างเท่านั้น ในการติดต่อกันคงใช้เส้นทางผ่านเมืองนครไทย
(จังหวัดพิษณุโลก) ไปสู่เมืองด่านซ้าย ลงเรือไปตามลำน้ำเหือง ออกสู่แม่น้ำโขง ไม่พบ
หลักฐานใดๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า อยุธยาได้รู้จักเส้นทางผ่านทางช่องดงพระยาไฟ และดงพระยากลาง
ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (ธวัช ปุณโณทก. ๒๕๔๔ ก : ๑๖) ทั้งๆ ที่หัวเมืองพิมาย เมือง
พนมรุ้ง เคยเป็นชุมชนที่รุ่งเรืองในสมัยขอมพระนคร อันน่าเชื่อได้ว่าชุมชนดังกล่าวคงลด
ความสำคัญลงไปมาก ดังนั้น ทั้งพงศาวดารไทยและลาวจึงไม่ได้กล่าวถึงหัวเมืองในดินแดนที่
ราบสูงแอ่งโคราชในสมัยอยุธยาตอนต้น

๔. การขยายวัฒนธรรมไทยลาวเข้าสู่ดินแดนแอ่งโคราช
ดินแดนในเขตแอ่งโคราชในสมัยสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น เป็นชุมชนที่มีความสำคัญ
น้อย ดังที่หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว. ปฐม คเนจร) เขียนว่า
"พื้นที่ในมณฑลลาวกาวนี้ เมื่อก่อนจุลศักราช ๑๐๐๐ (พ.ศ. ๒๑๘๑) ก็เป็นทำเลป่าดง
เป็นที่อาศัยของคนป่าซึ่งสืบเชื้อสายมาแต่ขอม ต่อมาเรียกกันว่าพวกข่า ส่วย กวย (หรือ
กุย)..." (หม่อมอมรวิจิตร. ๒๕๐๔ : ๒๑) แสดงว่า ช่วงนั้นยังไม่มีคนไทยลาวเข้ามาอยู่
บริเวณนี้
ทางตอนใต้ลุ่มแม่น้ำโขง มีชุมชนขนาดใหญ่ของพวกข่า เรียกว่านครจำปาศักดิ์ มี
หัวหน้าปกครองเป็นเอกราช (นางแพง นางเพา) ซึ่งเดิมนับถือผีสาง ได้รับวัฒนธรรมไทยลาว
สมัยพระครูโพนเสม็ด หรือโพนสะเม็ก (พระครูขี้หอม) (ธิดา สาระยา. ๒๕๓๖ : ๑๑๘) พร้อม
ด้วยเจ้าหน่อกษัตริย์ ได้พาพรรคพวกอพยพจากล้านช้าง (เวียงจันทน์) ลงไปทางใต้ เมื่อ พ.ศ.
๒๒๓๑ เข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนา เป็นที่เคารพของชาวจำปาศักดิ์ และต่อมา เจ้าหน่อกษัตริย์ได้
ปกครองนครจำปาศักดิ์ ได้พระนามว่า "เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร" ซึ่งนครจำปาศักดิ์นี้
กลายเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมไทยลาวแห่งหนึ่ง
ในการขยายวัฒนธรรมไทยลาวเข้าสู่แอ่งโคราช มี๔ กลุ่มใหญ่ๆ คือ

๑. กลุ่มเจ้าแก้วหรือ จารย์แก้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๒๕๖ เจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ แห่งนคร
จำปาศักดิ์ ได้ส่งเจ้าแก้ว เชื้อสายเจ้าเมืองเวียงจันทน์ ไปปกครองเมืองท่ง หรือเมืองสุวรรณภูมิ
ได้ขยายชุมชนเป็นเมืองร้อยเอ็ดและมหาสารคามในเวลาต่อมา (พ.ศ. ๒๓๑๘)

๒. กลุ่มพระวอพระตา ได้แยกจากเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ สมัยพระเจ้าสิริบุญ
สาร มาตั้งเมืองที่หนองบัวลุ่มภู ตั้งชื่อเมืองว่า "นครเขื่อนขันกาบแก้วบัวบาน" (กลุ่มนี้เองที่ทำ
ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ไทยลาว) ต่อมา เวียงจันทน์ยกทัพมาตี รบกัน
อยู่ ๒-๓ ปี พระตาเสียชีวิต พระวอเห็นท่าสู้ไม่ได้ จึงอพยพลงมารวมกลุ่มกับนครจำปาศักดิ์
สมัยเจ้าไชยกุมาร ได้ตั้งมั่นที่บ้านดู่ บ้านแก แขวงปากเซ อีก ๓-๔ ปี ต่อมา มีเหตุขัดใจกับเจ้า
ไชยกุมาร จึงอพยพมาตั้งเมืองที่ ดอนมดแดง และห้วยแจระแม เห็นว่าเมืองจำปาศักดิ์คงให้ความ
คุ้มครองไม่ได้จึงมีใบบอกไปยังเมืองนครราชสีมาขอขึ้นกับกรุงธนบุรี

ทัพเวียงจันทน์ยกมาตีอีก พระวอมีใบบอกไปยังนครราชสีมา ขอกำลังมาช่วย ใน
การรบครั้งนั้น พระวอถูกประหารชีวิต (พ.ศ. ๒๓๑๙) พวกที่เหลือมีท้าวคำผงเป็นหัวหน้า ท้าว
ทิดพรม ท้าวก่ำ รวมตัวกันไปตั้งมั่นที่บ้านดู่ บ้านแก ต่อมาในปี ๒๓๒๑ สมเด็จพระเจ้ากรุง
ธนบุรีโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (สมัยดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี) และ


เจ้าพระยาสุรสีห์ (น้องชาย) ยกทัพไปตีจำปาศักดิ์และเวียงจันทน์ ได้ทั้งสองเมือง และได้อัญเชิญ
พระแก้วมรกตมาไว้ที่ธนบุรีด้วย เป็นครั้งแรกที่ราชธานีได้เข้าครอบครองพื้นที่ภาคอีสาน (รวมถึง
ล้านช้างด้วย) ตำนานเมืองอุบลยังกล่าวต่อไปอีกว่า หลังจากนั้น ท้าวคำผงได้รับการแต่งตั้งเป็น
พระประทุมสุรราชภักดี ขึ้นกับนครจำปาศักดิ์ (พ.ศ. ๒๓๒๓) ต่อมาได้ย้ายเมืองไปตั้งที่ดอนมด
แดง เห็นว่าที่ไม่เหมาะสม จึงย้ายไปที่ ดงอู่ผึ้ง (ตัวเมืองอุบลราชธานีในปัจจุบัน) ในปี ๒๓๓๕
สมัยรัชกาลที่ ๑ ท้าวคำผงได้รับแต่งตั้งเป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ ครองเมืองอุบลเป็นคน
แรก ตั้งชื่อเมือง "อุบลราชธานี ศรีวนาลัย ประเทศราช" (สภาวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี.
๒๕๔๐ : ๑๐)

๓. กลุ่มผ้าขาวสมพมิตร เป็นกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง ในพงศาวดารกล่าวว่า อพยพ
จากเมืองผ้าขาว ศรีสัตนาคนหุต เข้ามาตั้งอยู่ที่บ้านแก่งส้มโฮง (แก่งสำโรง) ในราว พ.ศ.
๒๓๑๐ ขออยู่ใต้บังคับกรุงธนบุรี ท้าวสมพมิตร ได้รับแต่งตั้งเป็น พระยาชัยสุนทร เจ้าเมือง
กาฬสินธุ์
๔. กลุ่มท้าวแล อพยพมาจากเวียงจันทน์ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ตั้งหลักแหล่งที่บริเวณ
เทือกเขาดงพระยากลางและเทือกเขาเพชรบูรณ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาภักดีชุมพล เจ้าเมือง
ชัยภูมิ
ส่วนบริเวณลุ่มน้ำมูล (ตอนใต้ของแอ่งโคราช) มีชนพื้นเมืองตั้งชุมชนอยู่ทั่วไป ที่เรียก
กันว่า "เขมรป่าดง" อยู่แถบจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์

๕. การขยายอำนาจส่วนกลางเข้าสู่ภาคอีสาน
ในช่วงอยุธยาตอนต้นนั้น พงศาวดารไทย ไม่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับที่ราบสูงภาคอีสาน
แต่ได้กล่าวถึงหัวเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง ว่าเป็นเมืองอิสระ มีกษัตริย์ปกครอง และมีหลักฐานว่า
อาณาจักรล้านช้างมีอำนาจเหนือฝั่งขวาแม่น้ำโขง เช่น เมืองโคตรบอง เป็นต้น ในสมัยพระ
นารายณ์มหาราช มีการพัฒนาเมืองโคราชและส่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาปกครอง มีเมืองขึ้น
เพียง ๕ เมือง คือ นครจันทึก (ปากช่องและสีคิ้ว) เมืองชัยภูมิ (น่าจะเป็นเมืองเก่า ก่อนท้าวแล
จะมาตั้งถิ่นฐาน) เมืองพิมาย เมืองแปะ (บุรีรัมย์) และเมืองนางรอง นอกนั้นไม่กล่าวถึง
สมัยพระเจ้าเอกทัศน์ (ก่อนเสียกรุงเล็กน้อย) ช้างพลายสำคัญตกมัน หนีมาทางภาค
อีสาน จึงได้ส่งขุนนางมาตามช้าง ได้รับการช่วยเหลือจากพวกส่วย หรือกุย จึงโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งให้เป็นขุนนาง ได้แก่ หลวงสุวรรณ (ตากะจะ) ครองเมืองขุขันธ์ หลวงเพชร์ (เชียงฆะ)
ครองเมืองสังขะ หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุ่ม) ครองเมืองคูปะทายสมัน (สุรินทร์) หลวงศรี
นครเตา (เชียงสี) ครองเมืองรัตนบุรี ทั้งหมดขึ้นกับเมืองพิมาย ในพงศาวดารกรุง
รัตนโกสินทร์เรียกว่า หัวเมืองเขมรป่าดง

ปลายสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรียึดได้จำปาศักดิ์และเวียงจันทน์ ภาคอีสานทั้งหมดจึงอยู่
ใต้การปกครองของไทยเป็นต้นมา ในฐานะหัวเมืองประเทศราช
สมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีการขยายหัวเมืองมากขึ้น โดยแต่งตั้งให้ผู้ที่สามารถรวบรวม
สมัครพรรคพวก ไปตั้งเมืองใหม่ให้เป็นปึกแผ่นได้ ก็จะได้เป็นเจ้าเมืองนั้น จึงเกิดหัวเมืองใน
แอ่งโคราชเป็นจำนวนมาก (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศ
รานุวัติวงศ์. ๒๕๐๔ : ๒๔๕)

สมัยรัชกาลที่ ๓ เกิดสงครามยืดเยื้อกับญวน และเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ หลังจากปราบ
กบฏเจ้าอนุวงศ์แล้ว จึงได้เกลี้ยกล่อมชาวบ้านจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตอนบน ให้เข้ามาอยู่ฝั่งขวา
เพื่อตัดเสบียงพวกญวน เช่นจากเมืองมหาชัยกองแก้ว เมืองพิน เมืองนอง เมืองตะโพน
เมืองคำเกิด คำม่วน เป็นต้น ส่วนใหญ่มาอยู่แอ่งสกลนคร จึงปรากฏว่าในเขตจังหวัดสกลนคร
นครพนมปัจจุบัน มีหลายกลุ่มหลายภาษา เช่น ย้อ ผู้ไทย แสก เป็นต้น
สมัยรัชกาลที่ ๕ ฝรั่งเศสเริ่มล่าอาณานิคม ไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและ
ดินแดนอื่นอีกมากมายให้ฝรั่งเศส (พ.ศ. ๒๔๓๑ - ๒๔๙๙) และได้ตกลงทำสนธิสัญญาแบ่ง
ประเทศโดยใช้แม่น้ำโขงเป็นเขตแดน ได้จัดการปกครองหัวเมืองในภาคอีสานใหม่ จากธรรม
เนียมแบบล้านช้าง (ตำแหน่งอาญาสี่ คือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร) เป็นมณฑล
เทศาภิบาล จัดการปกครองตามลักษณะปกครองท้องที่ (พ.ศ. ๒๔๔๐) ได้ส่งข้าหลวงจาก
กรุงเทพฯ มาปกครองหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น ที่อุบลราชธานี ทรงโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอกรม
หลวงพิชิตปรีชากร มาเป็นข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาวพระองค์แรก องค์ต่อมาคือพระเจ้าบรม
วงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว
ได้ทรงสู่ขอนางเจียงคำ ธิดาของท้าวสุรินทร์ชมภู (หมั้น) บุตรของราชบุตร (สุ่ย) เชื้อสาย
เจ้านายเมืองอุบลมาเป็นชายา (ธิดา สาระยา. ๒๕๓๖ : ๑๙๖) อันเป็นการประสานไมตรี
เกี่ยวดองเป็นเครือญาติ สร้างความกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงกับวัฒนธรรมลุ่มน้ำ
เจ้าพระยา

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้มีพระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้น ชาวไทย
อีสานต้องเรียนภาษาไทยกลาง มีการตั้งโรงเรียนขึ้นในวัด โดยการนำของพระเถระชั้นผู้ใหญ่
เช่น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) (๒๓๙๙ - ๒๔๗๕) ได้ตั้งโรงเรียนแห่งแรกของ
เมืองอุบล ที่วัดสุปัฏนาราม ชื่อโรงเรียน "อุบลวิทยาคม" สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน)
(๒๔๑๐ - ๒๔๙๙) ได้ดำเนินการจัดการศึกษาต่อมาให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ได้รวบรวมศิลาจารึก
จากที่ต่างๆ มาไว้ที่วัดสุปัฏนาราม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เช่น จาก
ภูหมาไน ใกล้ปากแม่น้ำมูล เป็นต้น ปัจจุบันศิลาจารึกเหล่านั้นยังอยู่ที่วัดสุปัฏนาราม โรงเรียน
อุบลวิทยาคม เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสมเด็จ (เป็นโรงเรียนราษฎร์ อยู่ในวัดสุปัฏนาราม)

(อุบลราชธานี ๒๐๐ ปี. : ๑๗๓ - ๑๗๕) จากนั้นเป็นต้นมา ภาษาไทยกลางจึงแพร่หลายไปทั่ว
ภาคอีสาน ตัวอักษรไทยน้อย และอักษรธรรมจึงลดความสำคัญลง
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่กล่าวมาเห็นได้ว่า พื้นที่ภาคอีสาน มี
กลุ่มชนอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อมาได้รับวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรม
ขอม วัฒนธรรมไทยลาว และไทยเมืองหลวง กระนั้นก็ตาม ชาวไทยอีสานส่วนใหญ่ยังรักษา
ขนบธรรมเนียมประเพณีโดยเฉพาะ "ภาษาพูด" ไว้อย่างเหนียวแน่น เพียงแต่ "ตัวอักษร"
เท่านั้นที่เปลี่ยนไป

ข้อมูลโดย http:www.esansawang.in.th
Cr:http://www.isantumhome.com/thread-760-1-1.html
@ศรี นรเดช