วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ประวัติศาสตร์ชาติลาว 2 อาณานิคมของฝรั่งเศส

ประวัติศาสตร์ชาติลาว (2)
อาณานิคมของฝรั่งเศส

อาณานิคมของฝรั่งเศส (1893-1954)
ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่อังกฤษและฝรั่งเศสก้าวขึ้นเป็นเจ้าอาณานิคม ออกล่าเมืองขึ้นทั่วโลก ในเอเชีย อังกฤษใช้กำลังยึดเอาประเทศอินเดีย พม่า อินโดนีเซีย มลายู สิงคโปร์ และแผ่อิทธิพลเข้าสยาม ส่วนฝรั่งเศสเข้ายึดเขตตะวันออกของภาคใต้เวียดนามในปี 1862 และกัมพูชาในปี 1863

ปี 1866 ฝรั่งเศสส่งคณะนำโดย Doudart de Lagree และ Francis Garnier สำรวจลำน้ำโขงขึ้นไปถึงประเทศจีน
ปี 1887 ภายหลังยึดดินแดนประเทศเวียดนามและกัมพูชาได้ทั้งหมดแล้ว ฝรั่งเศสแต่งตั้ง Auguste Pavie เป็นกงสุลประจำราชวังหลวงพระบาง เตรียมการยึดครองลาวที่เป็นประเทศราชของสยาม พร้อมกันนั้น ฝรั่งเศสก็ได้ยุยงพวกฮ่อธงดำธงแดงก่อความวุ่นวายขึ้นในเขตสิบสองจุไท แล้วฉวยโอกาสส่งกองทหารของตนยึดครองเขตนั้นโดยอ้างว่า 'ปราบฮ่อ' พวกฮ่อได้ปล้นสะดมลงมาทางแขวงหัวพันและเชียงขวาง จนวันที่ 10 มิถุนายน 1887 เข้าปล้นสะดมนครหลวงพระบาง Pavie ฉวยโอกาสพาเจ้าอุ่นคำพร้อมวงศานุวงศ์ลงเรือไปลี้ภัยอยู่แก้งหลวง เขตเมืองปากลาย สร้างความนิยมให้ตนเอง ฝ่ายพวกฮ่อธงดำธงแดงได้ปล้นสะดมต่อลงมาทางเวียงจันทน์ ทำลายธาตุหลวง ธาตุดำ เพื่อค้นหาสมบัติ ในเวลานั้นฝ่ายสยามส่งกองทหารภายใต้การบัญชาของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ขึ้นไปปราบฮ่อ ฝ่ายฝรั่งเศสก็ขนทหารของตนเข้าไปในลาวเช่นกัน โดยแบ่งเป็น 3 ปีก ปีกหนึ่งจากกัมพูชาผ่านเมืองเชียงแตงตีเอาจำปาสัก ปีกสองเข้าทางกิ่งลาวบาวข้ามชายแดนภูหลวงตีเอาสะหวันนะเขต และปีกสามจากดงเฮียตีเอาคำม่วน

แม้อาณาจักรลาวล้านช้างตกเป็นเมืองขึ้นของสยามตั้งแต่ 1779 แต่มีบางเขตเช่น เมืองพวน ภาคตะวันออกของแขวงคำม่วน และแขวงสะหวันนะเขต ตกอยู่ในอิทธิพลของเวียดนาม เมื่อฝรั่งเศสยึดเอาประเทศเวียดนามแล้ว จึงถือว่าประเทศลาวต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของตนเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นดังนั้น จึงเกิดการขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม ทั้งสองฝ่ายต่างขนกองทหารเข้าไปในลาวเพื่อรักษาเมืองขึ้นของตนไว้ และเกิดการปะทะกันในเดือนกรกฎาคม 1893 (พ.ศ. 2436) ที่บ้านแก้งเจ็ก แขวงคำม่วน ทหารฝรั่งเศสล้มตายจำนวนหนึ่ง ฝรั่งเศสจึงยื่นบันทึกเกี่ยวกับกรณีพิพาทบ้านแก้งเจ็ก ขู่บังคับให้สยามชดใช้ค่าหัวทหารฝรั่งเศสที่ตาย ให้สยามถอนทหารออกจากลาวภายใน 48 ชั่วโมง และให้ยกดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงแก่ฝรั่งเศส หาไม่ ฝรั่งเศสจะส่งเรือรบยิงถล่มกรุงเทพฯ เมื่อสยามไม่ตอบสนองคำขู่ ฝรั่งเศสจึงส่งเรือรบเข้าอ่าวไทยจนถึงปากน้ำเจ้าพระยา เกิดการยิงต่อสู้กัน เรือรบฝรั่งเศสสามารถฝ่าแนวป้องกันของสยามเข้าไปถึงกรุงเทพฯ หันปากกระบอกปืนเข้าหาพระบรมมหาราชวัง วันที่ 3 ตุลาคม 1893 (พ.ศ. 2436) รัชกาลที่ 5 ต้องเซ็นสัญญายกดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส เหตุการณ์นี้เรียกว่า 'วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112'

ต่อมาสยามต้องยกดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในปี 1904 (พ.ศ. 2447) และปี 1907 (พ.ศ. 2450)

ประเทศลาวเปลี่ยนจากประเทศราชของสยามเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

ฝรั่งเศสแบ่งแยกดินแดนอินโดจีนที่ตนยึดไว้ออกเป็น 5 แคว้น ได้แก่ เวียดนามถูกตัดเป็น 3 แคว้น คือ ภาคเหนือเรียกว่า Tonkin มีเมืองหลวงอยู่ Hanoi ภาคกลางเรียกว่า Annam มีเมืองหลวงอยู่ Hue และภาคใต้เรียกว่า Cochinchina มีเมืองหลวงอยู่ Saigon ส่วนกัมพูชาและลาว จัดเป็นอีก 2 แคว้น ทั้ง 5 แคว้นนี้มีผู้สำเร็จราชการใหญ่เป็นผู้ปกครอง สำนักงานใหญ่อยู่ Hanoi ขึ้นกับกระทรวงอาณานิคมของฝรั่งเศสที่ปารีสโดยตรง แต่ละแคว้นมีผู้สำเร็จราชการ กองทหาร ตำรวจ และตุลาการ เป็นเครื่องมือเผด็จการ และเพื่อปราบปรามพวกรักชาติต่อต้าน ฝรั่งเศสได้สร้างคุกที่เกาะกวนดาว นอกชายฝั่งทะเลเวียดนาม สำหรับคุมขังนักโทษการเมือง

ในลาว ฝรั่งเศสแบ่งการปกครองเป็น 2 ส่วนต่างกันคือ 'ประเทศลาวในอารักขา' และ 'ประเทศลาวเมืองขึ้น' ประเทศลาวในอารักขาได้แก่อาณาจักรหลวงพระบาง มีเจ้ามหาชีวิตเป็นประมุขและมีรัฐบาลที่มีชื่อว่า 'หอสนามหลวง' บริหารประเทศภายใต้การควบคุมของข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำราชสำนัก ส่วนประเทศลาวเมืองขึ้น ขึ้นกับผู้สำเร็จราชการใหญ่ประจำอินโดจีนที่ Hanoi ในเวลานั้นประเทศลาวแบ่งออกเป็น 10 แขวง แต่ละแขวงมีคนฝรั่งเศสเป็นเจ้าแขวงเรียกว่า commissaire เลือกชนชั้นศักดินาจำนวนหนึ่งมาประกอบเป็นสภาท้องถิ่น

เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสมิได้ตั้งใจให้คนลาวได้รับประโยชน์จากการพัฒนาใดๆ การยึดครองเพียงเพื่อกอบโกยทรัพยากร อาทิ ตะกั่ว ไม้สัก ครั่ง ด้านกสิกรรม ได้จับจองดินดอนที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ภูเพียงบอละเวนที่คลุมเนื้อที่ 20,000 เฮกตาร์ เป็นแหล่งปลูกพืชอุตสาหกรรม ได้แก่ กาแฟ ชา เป็นต้น บรรดาตัวเมืองที่มีคนฝรั่งเศสอยู่ จึงมีการสร้างโรงไฟฟ้า น้ำประปาไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อใช้กันเอง นอกจากนี้ ยังบังคับเกณฑ์แรงงานชาวลาวในการสร้างทางอย่างน้อยคนละ 60 วัน ไม่มีค่าจ้าง ไม่มีอาหารให้ ยิ่งกว่านั้น ประชาชนยังต้องเสียส่วย ทั้งส่วยค่าหัว ส่วยแรงงาน เสียค่าหัวสัตว์ที่ครอบครอง ช้าง ม้า วัว ควาย ด้านวัฒนธรรมและสังคม การศึกษาเป็นแบบเมืองขึ้น ให้เรียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ไม่ให้ความสนใจกับภาษาลาว งบประมาณการศึกษามีเพียงเล็กน้อย ทั้งประเทศมีโรงเรียนเพียง 2 หลัง หลังหนึ่งอยู่หลวงพระบาง อีกหลังหนึ่งอยู่เวียงจันทน์ ด้านสุขภาพ มีโรงพยาบาลใหญ่เพียงแห่งเดียวที่เวียงจันทน์ และโรงพยาบาลขนาดเล็ก 4 แห่ง อยู่หลวงพระบาง ท่าแขก ปากเซ และสะหวันนะเขต ซ้ำโรงพยาบาลรับใช้เฉพาะพวกฝรั่งเศสและศักดินา ส่วนชาวลาวทั่วไปเข้าไม่ถึงบริการ

การล่าเมืองขึ้น ยึดเอาแผ่นดินลาว แบ่งแยก ปราบปราม เก็บเกณฑ์ และกดขี่ขูดรีดประชาชนลาวอย่างโหดเหี้ยมของฝรั่งเศส ผลักดันให้คนลาวที่มีใจรักชาติรักความเป็นเอกราช ไม่ยอมจำนน ได้ลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้ ขบวนที่เด่นได้แก่

ขบวนต่อสู้ของพ่อกะดวด (1901-1903) พ่อกะดวดเป็นลาวเทิง อยู่บ้านคันทะจาน เมืองคันทะบุรี แขวงสะหวันนะเขต ได้รวบรวมกำลังผู้ต่อต้านฝรั่งเศสขึ้นที่บ้านโพนสีดา เมืองจำพอน แขวงสะหวันนะเขต เข้าโจมตีค่ายทหารที่เมืองสองคอน ต่อมาเข้าปิดล้อมเมืองสะหวันนะเขต หากกองทหารฝรั่งเศสมีกำลังและอาวุธเหนือกว่า กำลังของพ่อกะดวดจึงต้องล่าถอยและถูกกวาดล้าง ที่สุดพ่อกะดวดถูกจับได้และถูกทุบตีทรมานจนถึงแก่ความตาย

ขบวนต่อสู้ขององค์แก้ว และองค์กมมะดำ (1901-1937) เคียงคู่กับขบวนต่อสู้ทางแขวงสะหวันนะเขตของพ่อกะดวด ทางภาคใต้ของลาว จากภูหลวงชายแดนเวียดนามถึงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง เขตอุบลราชธานี ขบวนต่อสู้ภายใต้การนำขององค์แก้ว รวบรวมลาวเทิงเผ่าต่างๆ เขตที่มั่นภูเพียงบอละเวน เข้าต่อสู้กับฝรั่งเศสในลักษณะกองโจร ฝ่ายฝรั่งเศสไม่สามารถปราบปรามได้ จนปี 1907 จึงใช้อุบายไกล่เกลี่ย ให้เจ้าราชสะดาไน (พ่อเจ้าบุญอุ้ม) เชิญองค์แก้วมาเจรจากับฟรังเดอแล ผู้แทนฝรั่งเศส ที่วัดร้างกลางเมืองสาละวัน ขณะเจรจานั้น ฟรังเดอแลชักปืนยิงองค์แก้วเสียชีวิต หลังองค์แก้วถูกสังหาร องค์กมมะดำได้นำขบวนต่อสู้แทนและสามารถขยายวงเข้มแข็งยิ่งขึ้น ต้นปี 1936 ฝรั่งเศสระดมกำลังจากเขตต่างๆ ทั้งอินโดจีนเข้าตีเขตภูเพียงบอละเวน ในที่สุดองค์กมมะดำเสียชีวิตในการรบกลางที่มั่นภูหลวง ทำให้ขบวนต่อสู้ทางภาคใต้ของลาวสูญสลายไป

ขบวนต่อสู้ของเจ้าฟ้าปาไจ (1918-1922) ทางภาคเหนือก็เกิดขบวนต่อสู้ของลาวสูงโดยการนำของเจ้าฟ้าปาไจ เริ่มที่เมืองซ่อน แขวงหัวพัน แล้วลามไปยังแขวงเชียงขวาง แขวงหลวงพระบาง และภาคตะวันตกตอนเหนือของเวียดนาม การเคลื่อนไหวแบบกระจายอยู่ทุกแห่งของขบวนต่อสู้ทำให้ฝรั่งเศสไม่อาจเอาชนะได้ ฝรั่งเศสจึงใช้วิธีส่งสายเพื่อลอบสังหารเจ้าฟ้าปาไจ ในที่สุดเจ้าฟ้าปาไจก็ถูกลอบสังหารที่เมืองเหิบ แขวงหลวงพระบาง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 1922 ขบวนต่อสู้ของเจ้าฟ้าปาไจก็ค่อยสูญสลายไป

การต่อสู้ของประชาชนลาวหลายขบวนดังกล่าวแสดงให้เห็นจิตใจองอาจกล้าหาญ ไม่ยอมจำนนศัตรู แต่สุดท้ายขบวนต่างๆ ก็ถูกทำลายหมด ด้วยการต่อสู้ของประชาชนล้วนแต่เกิดขึ้นเอง ขาดการนำ ขาดการประสานร่วมมือกัน และขาดอาวุธ

ปี 1930 Ho Chi Minh ซึ่งเคลื่อนไหวต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ได้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และต่อมาเปลี่ยนเป็นพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ด้วยเห็นว่าการปฏิวัติเวียดนามไม่อาจแยกออกจากการปฏิวัติลาวและกัมพูชาได้ พร้อมกันนั้นได้สร้างแนวร่วมขึ้น ชื่อว่า 'สมาคมสัมพันธ์อินโดจีนต้านฝรั่งเศส'

ปี 1934 ในลาว มีการจัดตั้ง 'คณะพรรคแคว้นลาว' เพื่อนำการต่อสู้ เมื่อขบวนเติบใหญ่ขยายตัว จึงเปลี่ยนชื่อเป็น 'ขบวนลาวอิสระ' ต่อมาเปลี่ยนเป็น 'แนวลาวอิสระ' ในปี 1950 และ 'แนวลาวรักชาติ' ในปี 1956

ลัทธิล่าอาณานิคมพลิกผัน สถานการณ์โลกเปลี่ยน เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945)...

มิถุนายน 1940 กองทัพเยอรมนีบุกเข้าฝรั่งเศสและยึดกรุงปารีสได้ ฝรั่งเศสต้องจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น

ในเอเชีย ญี่ปุ่นเปิดแนวรบใหญ่ ขยายอิทธิพล โดยอ้างว่าเพื่อสร้าง 'วงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา' ยกทัพเข้าอินโดจีน ผลักดันให้ไทยในฐานะพันธมิตรขยาย 'ลัทธิชาติไทยใหญ่' บังคับให้ฝรั่งเศสยกดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงของลาว และแขวงพระตะบอง เสียมเรียบ ศรีโสภณของกัมพูชาให้ไทย เมื่อกำลังของฝรั่งเศสในอินโดจีนอ่อนลงสุดขีด ญี่ปุ่นจึงใช้กำลังยึดอินโดจีนทั้งหมด เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 1945

นับแต่กลางปี 1945 สถานการณ์สงครามพลิกกลับ ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในทุกสมรภูมิ วันที่ 6 สิงหาคม 1945 Hiroshima ถูกทำลายราบด้วยระเบิดปรมาณู ตามด้วย Nagasaki ในวันที่ 9 สิงหาคม 1945 ที่สุดจักรพรรดิ์ญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้ในวันที่ 14 สิงหาคม 1945

วันที่ 12 ตุลาคม 1945 เจ้าเพชราช ผู้นำรัฐบาลลาวอิสระ ประกาศเอกราชไม่ยอมเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ณ นครหลวงเวียงจันทน์ ต่อหน้าประชาชนลาว

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง กองทหารอังกฤษและทหารจีนเจียงไคเช็คได้รับหน้าที่จากกำลังสัมพันธมิตรปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในอินโดจีนตาม Potsdam Agreements กองทหารอังกฤษได้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นนับแต่เส้นขนานที่ 16 ลงไป ส่วนทหารจีนเจียงไคเช็คนับแต่เส้นขนานที่ 16 ขึ้นไป ขณะนั้นฝรั่งเศสฉวยโอกาสขนกองทหารของตนเข้าลาวทางภาคเหนือ โดยตกลงทำสัญญาลับกับทหารจีนเจียงไคเช็ค และขนทหารคอมมานโดโดดร่มลงเขตโพนสวรรค์ ทางภาคใต้ฝรั่งเศสขนทหารตั้งที่ปากเซโดยการร่วมมือของเจ้าบุญอุ้ม รัฐบาลลาวอิสระเตรียมกำลังต่อต้านฝรั่งเศส แต่เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์แห่งหลวงพระบางไม่เห็นชอบ ด้วยยังอยากอยู่ใต้อารักขาของฝรั่งเศส จึงสั่งปลดเจ้าเพชราชออกจากตำแหน่งมหาอุปราช เพื่อเป็นการตอบโต้คำสั่งเจ้าศรีสว่างวงศ์ รัฐบาลลาวอิสระได้เปิดสภาประชาชน สั่งปลดเจ้าชีวิตออกจากราชบัลลังก์และประกาศไม่รับรู้สัญญาลาว-ฝรั่งเศสที่ได้เซ็นกันมา ในหลวงพระบาง ประชาชนได้ใช้กำลังปิดล้อมและบังคับให้เจ้าชีวิตอยู่ในบริเวณราชวัง และกักขังนายทหารตัวแทนฝรั่งเศสที่มาเจรจากับเจ้าชีวิต

ต้นปี 1946 ฝรั่งเศสส่งกองทหารบุกโจมตีลาวทุกๆ ด้านขนานใหญ่ ทางภาคเหนือยึดเอาแขวงพงสาลี แขวงเชียงขวาง ทางภาคใต้โดยความร่วมมือของเจ้าบุญอุ้ม ยึดเอาภูเพียงบอละเวน และต่อมาตียึดได้สะหวันนะเขต ตามด้วยท่าแขก เวียงจันทน์ และหลวงพระบาง ในที่สุดฝรั่งเศสก็ยึดเอาลาวกลับคืนเป็นอาณานิคมได้อีกครั้ง

ปี 1949 ฝรั่งเศสแต่งตั้งเจ้าบุญอุ้มเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมารัฐบาลเจ้าบุญอุ้มเซ็นสัญญาร่วมฝรั่งเศส-ลาว เพื่อมอบ 'เอกราชในเครือสหพันธ์ฝรั่งเศส' แก่ลาว

ฝ่ายลาวอิสระได้เคลื่อนไหวต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธอยู่ทางภาคตะวันออก ตั้งแต่แขวงหัวพันถึงสาละวัน อัตตะปือ แต่ขบวนลาวอิสระพลัดถิ่นกลับเกิดการขัดแย้งกัน พวกหนึ่งนำโดยกระต่าย อุ่น ชะนะนิกอน เห็นควรให้ยุบขบวนการลาวอิสระและเข้าร่วมมือกับฝรั่งเศส อีกพวกมีเจ้าสุภานุวงศ์เป็นหัวหน้า เห็นว่าต้องต่อสู้จนถึงขั้นแย่งเอาชัยชนะอย่างสมบูรณ์ เจ้าสุภานุวงศ์ กับพูมี วงวิจิด นำกำลังเคลื่อนไหวอยู่ตามชายแดนลาว-ไทย ในเขตเมืองเชียงฮ่อน เชียงลม แขวงไชยบุรี ส่วนสิงกะโปเคลื่อนไหวอยู่แขวงคำม่วนและสะหวันนะเขต ต่อมาผู้นำแต่ละขบวนได้รวมตัวกันจัดตั้ง 'แนวลาวอิสระ' เพื่อเอกภาพในการต่อสู้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 1950 และจัดตั้ง 'รัฐบาลลาวต่อต้าน' โดยมีเจ้าสุภานุวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี แนวลาวอิสระต่อสู้กับพวกฝรั่งเศสด้วยกำลังอาวุธ ส่วนรัฐบาลลาวต่อต้านดำเนินงานทางการเมืองระหว่างประเทศ ในห้วงเวลาที่ระบอบสังคมนิยมขยายตัวอย่างมากทั้งในยุโรป เอเชีย และแอฟริกาเหนือ

ฤดูหนาวปี 1953 ถึงฤดูใบไม้ผลิปี 1954 ฝรั่งเศสเพลี่ยงพล้ำในทุกสมรภูมิอินโดจีน แนวลาวอิสระทยอยยึดได้ส่วนใหญ่ของแขวงคำม่วน บางส่วนของแขวงสะหวันนะเขต แขวงหัวพัน ภูเพียงบอละเวน แขวงอัตตะปือ แขวงสาละวัน แขวงพงสาลี และแขวงหลวงพระบาง

ในเวียดนาม วันที่ 7 พฤษภาคม 1954 นายพล Vo Nguyen Giap นำกำลังทหาร Viet Minh 55,000 นาย โจมตีที่มั่นสุดท้ายของฝรั่งเศสซึ่งเหลือกำลังพล 16,000 นาย ที่ Dien Bien Phu ภายหลังปิดล้อมอยู่ 55 วัน การรบนองเลือดเบ็ดเสร็จ ฝรั่งเศสต้องยอมจำนน ปิดฉากการเป็นเจ้าอาณานิคมอินโดจีนที่ดำรงมากว่า 100 ปี และนำสู่การเจรจาสันติภาพที่ Geneva ในวันรุ่งขึ้น (8 พฤษภาคม 1954) นัยเพื่อการถอยออกจากอินโดจีน 'อย่างมีเกียรติ' ของฝรั่งเศส

การเจรจาที่ Geneva เป็นไปอย่างเคร่งเครียด กินเวลาถึง 75 วัน ที่สุด Geneva Accords จึงได้ลงนามกันในวันที่ 20 กรกฎาคม 1954

สาระสำคัญของ Geneva Accords ต่อลาว ได้แก่ การหยุดยิงและการถอนทหารต่างด้าวออกจากลาว การห้ามไม่ให้กองทหารต่างด้าวใดๆ แทรกซึม และห้ามนำอาวุธยุทธภัณฑ์เข้าไปในประเทศลาว การแยกกำลังและกำหนดที่ตั้งของกองทหารลาวแต่ละฝ่ายระหว่างรอการรวมประเทศ การจัดการเกี่ยวกับเชลยศึก และการตั้งกรรมการตรวจตราสากล

Winston S. Churchill นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร บันทึกไว้ว่า วันหนึ่งในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 ประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt แห่งสหรัฐอเมริกา เปรยว่า เขากำลังสอบถามความเห็นจากสาธารณะ ถึงชื่อเรียกสงครามที่กำลังจะสิ้นสุดนี้ Churchill โพล่งออกมาทันทีว่า 'The Unnecessary War'

กงล้อประวัติศาสตร์ที่หมุนไป สำแดงให้เห็นว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนวิถีการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกที่ดำรงต่อเนื่องมากว่าศตวรรษต้องยุติลง การสู้รบกันเองระหว่างเจ้าอาณานิคมในแผ่นดินแม่ของตน นำมาซึ่งความย่อยยับและลดทอนอำนาจเดิมของทั้งสองฝ่าย จนที่สุดจำต้องทยอยคายอาณานิคมที่ตนใช้กำลังอธรรมยึดไว้ในอีกซีกโลก สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็น 'The Utmost Necessary War' ต่อการปลดแอกอาณานิคมจากชาติตะวันตก

ข้อมูลค้นจาก
สมชาย นิลอาธิ (ถอดความ). ประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาธิการฯ ลาว. สำนักพิมพ์มติชน. 2545.

wikipedia.org
Churchill, WS. The Second World War. Pimlico. 2002.
Vietnam. National Geographic Traveler. 2006.
Cr: http://mtreeanun.blogspot.com/

ประวัติศาสตร์ชาติลาว 1

 ประวัติศาสตร์ชาติลาว 
 ประเทศราชของสยาม


ASEAN Society of Pediatric Surgery (ASPS) เป็นการรวมกลุ่มของกุมารศัลยแพทย์ 10 ประเทศอาเซียน ริเริ่มโดยมาเลเซีย เมื่อปี 2006 เพื่อให้เกิดเครือข่าย แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ระหว่างกุมารศัลยแพทย์ในภูมิภาค และหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการปีละครั้ง
ปีนี้ 2015 ครบรอบปีที่สิบ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นเจ้าภาพ กำหนดจัดประชุมที่นครหลวงเวียงจันทน์ วันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2015

ลาวเป็นจุดหมายที่ชวนให้ไปเยือน...
บางกอกแอร์บินจากสุวรรณภูมิ 9.45 น. เราไปกัน 5 คน กับมีหมอวุ่น ศิษย์เก่า ซึ่งตอนนี้เป็นหัวหน้าหน่วยกุมารศัลยกรรม โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ไปพร้อมกัน รวมเป็น 6 คน เพียง 1.15 ชั่วโมง ก็ถึงเวียงจันทน์
จากสนามบินวัดไต เหมารถตู้ ไป Mercure Hotel ถนนสามแสนไท ที่พักและสถานที่จัดประชุม ระยะทางราว 8 กิโลเมตร ใช้เวลา 20 นาที
ที่ชายคาหน้าโรงแรม แขวนป้ายสีฟ้าสดใส ตัวหนังสือสีขาว แสดงความต้อนรับ แต่ไม่ใช่สำหรับคณะ ASPS หากแสดงความต้อนรับผู้แทนระดับสูงจากคณะกรรมการกลาง Socialist Youth League ของ 'ท่านผู้นำตลอดกาล' Kim Il Sung (1912-1994) แห่งเกาหลีเหนือ ที่มาเยือนลาว ระหว่าง 24-27 พฤศจิกายน 2015...

'น้ำใจ วันชาติที่ 2 ธันวา มั่นยืน'
ป้ายผ้าสีแดง ตัวหนังสือสีขาว ข้อความอ่านเป็นภาษาไทยได้ดังข้างต้น ประดับทั่วนครหลวง เตรียมฉลองครบรอบ 40 ปี วันชาติ 2 ธันวาคม 1975 วันที่พรรคปฏิวัติประชาชนลาว นำโดย ท่านไกสอน พมวิหาน ล้มล้างระบอบราชาธิปไตย และสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว...

ประวัติศาสตร์ชาติลาวย้อนไปแต่ครั้งอาณาจักรล้านช้าง (1353-1707) กษัตริย์ที่สำคัญ ได้แก่
เจ้าฟ้างุ้ม (1316-1374) กษัตริย์องค์แรก เป็นผู้สถาปนาอาณาจักรล้านช้าง ตั้งเมืองหลวงที่หลวงพระบาง ครองราชย์ 1353-1373
เจ้าไชยเชษฐาธิราช (1534-1572) เป็นโอรสของเจ้าโพธิสะราชแห่งล้านช้าง กับเจ้านางยอดคำทิพย์ ธิดาเจ้าเกศเกล้าแห่งอาณาจักรล้านนา ปี 1546 เจ้าเกศเกล้าสิ้นพระชนม์ และไม่มีโอรส ล้านนาจึงอัญเชิญเจ้าไชยเชษฐาธิราช ขึ้นเป็นกษัตริย์ ต่อมาปี 1547 เจ้าโพธิสะราชแห่งล้านช้างสิ้นพระชนม์ เกิดการแย่งชิงอำนาจ เจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงยกกำลังไปหลวงพระบาง พร้อมอัญเชิญพระแก้วมรกตจากล้านนาไปด้วย พระองค์ยึดอำนาจอาณาจักรล้านช้างสำเร็จ ขึ้นครองราชย์ปี 1548 ผนวกอาณาจักรล้านนาและล้านช้างเข้าด้วยกัน จนกระทั่งปี 1560 เจ้าไชยเชษฐาธิราช ทรงย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบาง มาสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เวียงจันทน์ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน ณ เมืองเวียงจันทน์ การย้ายเมืองหลวงนี้ก็เพื่อให้สามารถตั้งรับการศึกกับพม่าได้ดีขึ้น นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทำสัญญาไมตรีกับพระมหาจักรพรรดิ์แห่งอาณาจักรอยุธยา โดยร่วมกันสร้างพระธาตุศรีสองรักขึ้นที่ริมแม่น้ำหมันอันเป็นเขตแดนระหว่างอาณาจักรทั้งสอง (ปัจจุบัน พระธาตุศรีสองรักอยู่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย) พร้อมจารึกศิลา ด้านหนึ่งเป็นอักษรธรรมล้านช้าง อีกด้านเป็นอักษรขอม เนื้อความว่า 'จวบจนภายหน้า อย่าได้รุกล้ำครอบครองดินแดนของกัน อย่าได้ละโมบโป้ปดต่อกัน ตราบชั่วสุริยะจันทรายังคงลับขอบฟ้า ณ ที่นี้' (จารึกศิลานี้ถูก Auguste Pavie กงสุลฝรั่งเศสประจำราชวังหลวงพระบางขนย้ายไปยังเวียงจันทน์เมื่อปี 1906 ภายหลังฝรั่งเศสผนวกด่านซ้ายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมลาวของตน จารึกศิลาแตกชำรุดเป็น 4 ชิ้น บางส่วนหายไป ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอพระแก้ว เวียงจันทน์) ตลอดรัชสมัย พระองค์สามารถต้านทานการรุกรานจากเจ้าบุเรงนองแห่งพม่าได้อย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม เจ้าไชยเชษฐาธิราชถูกปลงพระชนม์ในปี 1572 โอรสคือเจ้าน้อยหน่อเมืองแก้วโกเมน ยังเป็นเด็ก จึงเกิดการแย่งชิงอำนาจอย่างวุ่นวาย อาณาจักรล้านช้างระส่ำระสาย อ่อนแอลง จนที่สุดเสียเมืองแก่เจ้าบุเรงนองแห่งพม่าในปี 1574 และเจ้าน้อยหน่อเมืองแก้วโกเมนถูกนำไปพม่าในฐานะตัวประกัน
ล้านช้างตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอยู่ 18 ปี จนสมัยเจ้านันทบุเรงแห่งพม่า จึงยินยอมแต่งตั้งเจ้าน้อยหน่อเมืองแก้วโกเมนเป็นเจ้าครองเวียงจันทน์ในฐานะประเทศราช ปี 1593 เจ้าน้อยหน่อเมืองแก้วโกเมนประกาศเอกราช และต้องเผชิญการศึกกับพม่าตลอดรัชสมัย
เจ้าสุริยวงศา ครองราชย์ 1637-1694 ยาวนานถึง 57 ปี สร้าง 'ยุคทอง' แห่งอาณาจักรล้านช้าง พระองค์มีสัมพันธไมตรีอันดีกับพระนารายณ์แห่งอาณาจักรอยุธยา ความมั่งคั่งของล้านช้างถูกนำไปทำนุบำรุงศาสนาเป็นหลัก แต่ละเลยด้านอื่นๆ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี 1694 โดยไม่มีรัชทายาท ล้านช้างจึงระส่ำระสายอย่างหนัก การแย่งชิงอำนาจนำไปสู่การแตกแยกเป็นอาณาจักรย่อย ได้แก่ อาณาจักรหลวงพระบาง และอาณาจักรเวียงจันทน์ในปี 1707 และอาณาจักรจำปาสักในปี 1713 ถือเป็นการสิ้นสุดของอาณาจักรล้านช้าง
ช่วงทศวรรษ 1760 และ 1770 พม่ากับอยุธยาทำสงครามกันต่อเนื่อง คู่ศึกทั้งสองต่างต้องสร้างพันธมิตรกับอาณาจักรหลวงพระบางและอาณาจักรเวียงจันทน์ หากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ทำให้หลวงพระบางและเวียงจันทน์จำต้องถือหางคู่ศึกคนละฝ่าย จึงยิ่งนำความแตกแยกระหว่างอาณาจักรย่อยทั้งสอง

ประเทศราชของสยาม (1779-1893)
ภายหลังกู้เอกราชจากพม่าได้สำเร็จ และตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว ในปี 1779 (พ.ศ. 2322) พระเจ้าตากได้ส่งกองทัพ โดยมีเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพ เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นรองแม่ทัพ ไปตีจำปาสักและเวียงจันทน์แตก กับบังคับให้หลวงพระบางสวามิภักดิ์ (หลวงพระบางส่งกำลังร่วมกับกองทัพพระเจ้าตากปิดล้อมเวียงจันทน์) อาณาจักรย่อยทั้งสามจึงตกเป็นประเทศราชของสยาม โอรส ธิดา ของเจ้าแห่งอาณาจักรทั้งสามถูกนำกลับกรุงธนบุรีในฐานะตัวประกัน พลเมืองลาวถูกกวาดต้อนเข้ามายังสระบุรีและบริเวณที่ราบสูงโคราชเพื่อใช้เป็นแรงงาน พระแก้วมรกตและพระบาง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ถูกยึดจากเวียงจันทน์นำกลับกรุงธนบุรี ตอกย้ำการสูญเสียเอกราชโดยสิ้นเชิงของเวียงจันทน์
ปี 1782 (พ.ศ. 2325) พระเจ้าตากถูกยึดอำนาจและสำเร็จโทษ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นรัชกาลที่ 1 ทรงจัดการปกครองประเทศราชใหม่ ผนวกหัวเมืองที่ราบสูงโคราชที่แต่เดิมขึ้นกับลาวให้ขึ้นตรงต่อสยาม เมื่อปี 1778 (พ.ศ. 2321) มีเพียงนครราชสีมาที่ขึ้นตรงต่อสยาม แต่เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 1 ศรีสะเกษ อุบล ร้อยเอ็ด ยโสธร ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ล้วนส่งบรรณาการตรงต่อกรุงเทพฯ แรงงานเชลยลาวที่กวาดต้อนมาเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง การเพิ่มผลผลิตและประชากรบนที่ราบสูงโคราชยังประโยชน์แก่สยามทั้งเชิงทรัพยากรและความมั่นคง
ปี 1780 (พ.ศ. 2323) เจ้าสิริบุญสาร แห่งเวียงจันทน์สิ้นพระชนม์ ขณะนั้นโอรสทั้งสามของพระองค์ได้แก่ นันทเสน อินทวงศ์ และอนุวงศ์ อยู่ในฐานะตัวประกันตั้งแต่คราวกองทัพกรุงธนบุรีตีเวียงจันทน์ปี 1779 ทั้งสามได้กลับไปครองเวียงจันทน์ตามลำดับคือ
เจ้านันทเสน (ครองเวียงจันทน์ 1781-1795) โดยได้รับพระบางคืนด้วย ต่อมาถูกกล่าวหาว่าสมคบกับเจ้านครพนมต่อต้านสยาม รัชกาลที่ 1 จึงให้จับตัว และจองจำไว้จนสิ้นพระชนม์
เจ้าอินทวงศ์ (ครองเวียงจันทน์ 1795-1804) ร่วมกับสยามในการรบกับพม่าเมื่อปี 1797 และ 1802 ตลอดจนการยึดแคว้นสิบสองจุไท โดยมีเจ้าอนุวงศ์เป็นแม่ทัพ
เจ้าอนุวงศ์ (ครองเวียงจันทน์ 1805-1827) เป็นอุปราชตั้งแต่ครั้งเจ้าอินทวงศ์ครองเวียงจันทน์ เมื่อเจ้าอินทวงศ์สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 1 จึงให้เจ้าอนุวงศ์สืบต่อ
ปี 1819 เจ้าอนุวงศ์ยกทัพไปปราบกบฏที่จำปาสักสำเร็จ และเมื่อเจ้าจำปาสักที่ลี้ภัยไปอยู่กรุงเทพฯ สิ้นพระชนม์ เจ้าอนุวงศ์ได้ทูลขอรัชกาลที่ 2 ให้แต่งตั้งโอรสของตนครองจำปาสักแทน โดยได้รับความสนับสนุนจากกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3) จึงนับว่าเจ้าอนุวงศ์สามารถรวมสองในสามของอาณาจักรล้านช้างเดิมกลับเข้าด้วยกัน
ปี 1824 (พ.ศ. 2367) รัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคต เจ้าฟ้ามงกุฎ โอรสของรัชกาลที่ 2 กับพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เป็นรัชทายาทลำดับที่หนึ่ง หากกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ อายุมากกว่า มีประสบการณ์และผู้สนับสนุนมากกว่า แม้พระมารดาคือพระศรีสุลาลัย มิใช่อัครมเหสีของรัชกาลที่ 2 ก็ตาม วิกฤตการณ์สืบราชสมบัตินี้ผ่อนคลายลงเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎเลือกที่จะครองสมณเพศต่อไป ยินยอมให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์และเจ้าจากหลวงพระบาง จำปาสัก ที่มาร่วมงานถวายพระเพลิงพระศพรัชกาลที่ 2 ในปีถัดมา ย่อมรับรู้สถานการณ์และวิกฤตการณ์ดังกล่าวเช่นกัน ภายหลังงานพระศพเสร็จสิ้น ก่อนกลับเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์ทูลรัชกาลที่ 3 ขอพระแก้วมรกต ขอขนิษฐาคือนางแก้วยอดฟ้ากัลยาณี และขอครัวเชลยชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาแต่ครั้งปี 1779 กลับคืน รัชกาลที่ 3 นอกจากไม่ทรงอนุญาตแล้ว ยังบังคับใช้แรงงานไพร่พลที่ไปกับเจ้าอนุวงศ์ ในการขุดคลอง ตัดตาลที่สุพรรณบุรี แล้วย้ายลงไปในการก่อสร้างพระสมุทรเจดีย์ที่สมุทรปราการ ซึ่งเป็นระยะทางไกล ทำให้คนลาวเจ็บป่วย ล้มตาย เป็นจำนวนมาก จึงยิ่งเพิ่มความเคียดแค้นและน้ำใจต่อสู้แก่เจ้าอนุวงศ์
ปัจจัยแตกหักสำคัญต่อมา คือ รัชกาลที่ 3 ทรงประกาศบังคับสักเลกในหัวเมืองลาว ที่ราบสูงโคราช และที่สระบุรี โดยมีเจ้าเมืองนครราชสีมาเป็นแม่กอง สร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรง ผู้คนอพยพหลบหนีข้ามโขงไปยังเวียงจันทน์
ในห้วงระยะนั้น ฝ่ายพม่าได้เกิดสงครามกับอังกฤษครั้งที่ 1 (1824-1826) และสูญเสียดินแดนสำคัญหลายแห่ง ไม่อาจคุกคามเวียงจันทน์อีกต่อไป
ปี 1826 (พ.ศ. 2369) สยามต้องยินยอมทำสัญญาเบอร์นี (Burney Treaty) กับอังกฤษ ทำให้เจ้าอนุวงศ์มองเห็นความอ่อนแอลงของสยาม จึงตระเตรียมกำลังในการประกาศเอกราช
ธันวาคม 1826 (พ.ศ. 2369) เจ้าอนุวงศ์ส่งทัพที่ 1 ลงมาทางกาฬสินธุ์ตามเส้นทางการบังคับสักเลก
มกราคม 1827 (พ.ศ. 2370) เจ้าอนุวงศ์ยกทัพที่ 2 เข้ายึดนครราชสีมา กำลังส่วนหนึ่งแยกเป็นทัพที่ 3 ไปทางหล่มสัก ชัยภูมิ จนถึงสระบุรี เพื่อกวาดครัวเชลยชาวลาวกลับคืนเวียงจันทน์ และทัพที่ 4 นำโดยเจ้าราชบุตรจากจำปาสักยกไปตีอุบล
อย่างไรก็ตาม การถอยทัพกลับเป็นไปอย่างล่าช้าด้วยครัวลาวจำนวนมาก นอกจากนี้เจ้าอนุวงศ์ยังเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ในการตามล่าตัวเจ้าเมืองนครราชสีมา แม่กองสักเลก ซึ่งหลบอยู่ที่ขุขันธ์
สยามจัดกำลังเป็น 2 ทัพใหญ่ ทัพแรกขึ้นไปทางสระบุรี เข้ายึดคืนนครราชสีมา ทัพที่ 2 ไปทางลุ่มป่าสักเข้าหล่มสัก เจ้าอนุวงศ์ถอยทัพไปตั้งมั่นที่หนองบัวลำภู ฐานสำคัญของตน เพื่อรบกับทัพสยาม กำลังทหารจำนวนมากและอาวุธปืนทันสมัยเหลือใช้จากสงครามนโปเลียนในยุโรป ซึ่งสยามซื้อจากอังกฤษสะสมตั้งแต่ปี 1822 (พ.ศ. 2365) เป็นสิ่งท่ีเจ้าอนุวงศ์คะเนผิดพลาด เพียง 3 วัน หนองบัวลำภูก็แตก ทัพเจ้าอนุวงศ์ต้องถอยร่นข้ามไปเวียงจันทน์ ทัพสยามรุกติดตาม อีก 5 วันต่อมา เวียงจันทน์ก็แตก เจ้าอนุวงศ์หนีไปเวียดนาม แม่ทัพของสยาม พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) (ต่อมาเลื่อนเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา) สั่งทำลายพระราชวังและป้อมปราการของเวียงจันทน์ เว้นวัดและส่วนอื่นของเมืองไว้ ยึดอาวุธต่างๆ ตลอดจนใช้เวลาอีกหลายเดือนกวาดต้อนครัวชาวเวียงจันทน์กลับที่ราบสูงโคราช เหลือกองทหารขนาดเล็กไว้ดูแลฝั่งตรงข้ามโขงของเมืองที่รกร้างแล้ว
เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยกกำลังทหารราว 1,000 คนกลับมาเวียงจันทน์ พบว่าเมืองร้างผู้คน และทราบว่าพระยาราชสุภาวดีได้สร้างอนุสรณ์แห่งชัยชนะเป็นเจดีย์ 9 ยอด ที่วัดทุ่งสว่างชัยภูมิ เมืองยโสธร อันเป็นสถานที่พักทัพ ด้วยความกริ้ว เจ้าอนุวงศ์จึงยกกำลังข้ามโขง เข้าโจมตีและสังหารกองทหารสยามที่รักษาการฝั่งตรงข้ามนั้น
รัชกาลที่ 3 ทรงพระพิโรธยิ่ง รับสั่งให้พระยาราชสุภาวดีกลับไปทำลายเวียงจันทน์ให้ราบและจับตัวเจ้าอนุวงศ์ให้ได้
พระยาราชสุภาวดีติดตามเจ้าอนุวงศ์ไปจนจับได้ที่เชียงขวาง และนำตัวกลับกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 3 รับสั่งให้ขังเจ้าอนุวงศ์ไว้ในกรงเหล็ก พร้อมเครื่องทรมานต่างๆ กรงเหล็กนี้ให้ตั้งตากแดดประจานที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เพียงไม่กี่วัน เจ้าอนุวงศ์ก็สิ้นพระชนม์ (61 พรรษา)
เมืองเวียงจันทน์ถูกทำลายราบ พระบางและพระพุทธรูปสำคัญอีกหลายองค์ถูกยึดอัญเชิญกลับสยาม ประชาชนถูกกวาดต้อนย้ายถิ่นอย่างสิ้นเชิง อาณาจักรเวียงจันทน์ถึงแก่การล่มสลาย ปราศจากเจ้าครองต่อไป แม้กว่า 30 ปีให้หลัง คณะสำรวจชาวฝรั่งเศสบันทึกไว้ว่าพบแต่ซากปรักรกร้างตรงที่เมืองเคยตั้งอยู่ อาณาจักรลาวที่เหลือคือหลวงพระบางและจำปาสักถูกควบคุมเข้มงวดยิ่งขึ้น ที่ราบสูงโคราชถูกผนวกเข้าเป็นส่วนของสยามทั้งหมด
การเทครัวพลเมืองลาวครั้งนี้เป็นการโยกถิ่นประชากรครั้งใหญ่มาก ส่งผลถึงปัจจุบันที่ประเทศลาวมีประชากรเพียง 7 ล้านคน ขณะที่ภาคอีสานของไทยมีประชากรเชื้อสายลาวถึง 22 ล้านคน
ภายหลัง 'กบฏเจ้าอนุวงศ์' เกิด 'ตำนาน' วีรสตรีของสยาม คือท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) ซึ่งต่อมาในช่วงทศวรรษ 1930 ได้รับการโฆษณาตามนโยบายชาตินิยมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม นัยเพื่อรณรงค์ทางการเมือง การทหาร สู่การรวบรวมชนชาติไต ที่เรียกว่า 'ลัทธิชาติไทยใหญ่'
ข้างฝ่ายลาว ถือว่าเจ้าอนุวงศ์เป็นวีรบุรุษ ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 รัฐบาลลาวเชิดชูกรณี 'สงครามกู้เอกราชของเจ้าอนุวงศ์' ว่าเป็นการศึกเพื่อปลดแอกประเทศราชจากสยาม ถึงแม้ไม่สำเร็จและนำสู่การล่มสลายของเวียงจันทน์ก็ตาม ต่อมาปี 2010 ในวาระ 450 ปี นครหลวงเวียงจันทน์ รัฐบาลลาวได้จัดสร้างอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ประดิษฐานหน้าสวนสาธารณะใหญ่ชื่อเดียวกัน ณ ใจกลางนครหลวง เป็นสัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณที่ต้องการอิสรภาพ เสรีภาพ ไม่ยอมจำนนเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ
ภายหลังเหตุการณ์เจ้าอนุวงศ์ ความขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับสยามต่อผลประโยชน์และดินแดนลาวยิ่งเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่สงครามสยาม-เวียดนามในช่วงทศวรรษ 1830 เวียดนามผนวกเชียงขวาง ส่วนจีนภายหลังกบฏไทปิงได้แผ่อิทธิพลลงมาตามน้ำโขง เกิดสงครามฮ่อในช่วงทศวรรษ 1860 ความไม่สงบขาดเสถียรภาพของภูมิภาคทำให้เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสรุกเข้ายึดครองอินโดจีนได้โดยสะดวก...

สัญญาไมตรีระหว่างล้านช้างกับอยุธยาซึ่งจารึกมั่นคงบนศิลา สำทับด้วยพระธาตุศรีสองรักอันเป็นหลักเขตแดน ไม่อาจรับรองการเคารพอธิปไตยระหว่างกันในคนรุ่นต่อมา ลาวจึงตกเป็นประเทศราชของสยามนับเวลากว่าศตวรรษ ในห้วงนั้น ลาวต้องอยู่ในสภาพดังเช่นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ที่ว่า
'ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส
เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย
เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย
ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา'


ข้อมูลค้นจาก
สมชาย นิลอาธิ (ถอดความ). ประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาธิการฯ ลาว. สำนักพิมพ์มติชน. 2545.
wikipedia.org
sac.or.th
Cr:http://mtreeanun.blogspot.com/