วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ประวัติศาสตร์ชาติลาว 1

 ประวัติศาสตร์ชาติลาว 
 ประเทศราชของสยาม


ASEAN Society of Pediatric Surgery (ASPS) เป็นการรวมกลุ่มของกุมารศัลยแพทย์ 10 ประเทศอาเซียน ริเริ่มโดยมาเลเซีย เมื่อปี 2006 เพื่อให้เกิดเครือข่าย แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ระหว่างกุมารศัลยแพทย์ในภูมิภาค และหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการปีละครั้ง
ปีนี้ 2015 ครบรอบปีที่สิบ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นเจ้าภาพ กำหนดจัดประชุมที่นครหลวงเวียงจันทน์ วันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2015

ลาวเป็นจุดหมายที่ชวนให้ไปเยือน...
บางกอกแอร์บินจากสุวรรณภูมิ 9.45 น. เราไปกัน 5 คน กับมีหมอวุ่น ศิษย์เก่า ซึ่งตอนนี้เป็นหัวหน้าหน่วยกุมารศัลยกรรม โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ไปพร้อมกัน รวมเป็น 6 คน เพียง 1.15 ชั่วโมง ก็ถึงเวียงจันทน์
จากสนามบินวัดไต เหมารถตู้ ไป Mercure Hotel ถนนสามแสนไท ที่พักและสถานที่จัดประชุม ระยะทางราว 8 กิโลเมตร ใช้เวลา 20 นาที
ที่ชายคาหน้าโรงแรม แขวนป้ายสีฟ้าสดใส ตัวหนังสือสีขาว แสดงความต้อนรับ แต่ไม่ใช่สำหรับคณะ ASPS หากแสดงความต้อนรับผู้แทนระดับสูงจากคณะกรรมการกลาง Socialist Youth League ของ 'ท่านผู้นำตลอดกาล' Kim Il Sung (1912-1994) แห่งเกาหลีเหนือ ที่มาเยือนลาว ระหว่าง 24-27 พฤศจิกายน 2015...

'น้ำใจ วันชาติที่ 2 ธันวา มั่นยืน'
ป้ายผ้าสีแดง ตัวหนังสือสีขาว ข้อความอ่านเป็นภาษาไทยได้ดังข้างต้น ประดับทั่วนครหลวง เตรียมฉลองครบรอบ 40 ปี วันชาติ 2 ธันวาคม 1975 วันที่พรรคปฏิวัติประชาชนลาว นำโดย ท่านไกสอน พมวิหาน ล้มล้างระบอบราชาธิปไตย และสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว...

ประวัติศาสตร์ชาติลาวย้อนไปแต่ครั้งอาณาจักรล้านช้าง (1353-1707) กษัตริย์ที่สำคัญ ได้แก่
เจ้าฟ้างุ้ม (1316-1374) กษัตริย์องค์แรก เป็นผู้สถาปนาอาณาจักรล้านช้าง ตั้งเมืองหลวงที่หลวงพระบาง ครองราชย์ 1353-1373
เจ้าไชยเชษฐาธิราช (1534-1572) เป็นโอรสของเจ้าโพธิสะราชแห่งล้านช้าง กับเจ้านางยอดคำทิพย์ ธิดาเจ้าเกศเกล้าแห่งอาณาจักรล้านนา ปี 1546 เจ้าเกศเกล้าสิ้นพระชนม์ และไม่มีโอรส ล้านนาจึงอัญเชิญเจ้าไชยเชษฐาธิราช ขึ้นเป็นกษัตริย์ ต่อมาปี 1547 เจ้าโพธิสะราชแห่งล้านช้างสิ้นพระชนม์ เกิดการแย่งชิงอำนาจ เจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงยกกำลังไปหลวงพระบาง พร้อมอัญเชิญพระแก้วมรกตจากล้านนาไปด้วย พระองค์ยึดอำนาจอาณาจักรล้านช้างสำเร็จ ขึ้นครองราชย์ปี 1548 ผนวกอาณาจักรล้านนาและล้านช้างเข้าด้วยกัน จนกระทั่งปี 1560 เจ้าไชยเชษฐาธิราช ทรงย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบาง มาสร้างเมืองหลวงใหม่ที่เวียงจันทน์ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน ณ เมืองเวียงจันทน์ การย้ายเมืองหลวงนี้ก็เพื่อให้สามารถตั้งรับการศึกกับพม่าได้ดีขึ้น นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ทำสัญญาไมตรีกับพระมหาจักรพรรดิ์แห่งอาณาจักรอยุธยา โดยร่วมกันสร้างพระธาตุศรีสองรักขึ้นที่ริมแม่น้ำหมันอันเป็นเขตแดนระหว่างอาณาจักรทั้งสอง (ปัจจุบัน พระธาตุศรีสองรักอยู่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย) พร้อมจารึกศิลา ด้านหนึ่งเป็นอักษรธรรมล้านช้าง อีกด้านเป็นอักษรขอม เนื้อความว่า 'จวบจนภายหน้า อย่าได้รุกล้ำครอบครองดินแดนของกัน อย่าได้ละโมบโป้ปดต่อกัน ตราบชั่วสุริยะจันทรายังคงลับขอบฟ้า ณ ที่นี้' (จารึกศิลานี้ถูก Auguste Pavie กงสุลฝรั่งเศสประจำราชวังหลวงพระบางขนย้ายไปยังเวียงจันทน์เมื่อปี 1906 ภายหลังฝรั่งเศสผนวกด่านซ้ายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมลาวของตน จารึกศิลาแตกชำรุดเป็น 4 ชิ้น บางส่วนหายไป ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอพระแก้ว เวียงจันทน์) ตลอดรัชสมัย พระองค์สามารถต้านทานการรุกรานจากเจ้าบุเรงนองแห่งพม่าได้อย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม เจ้าไชยเชษฐาธิราชถูกปลงพระชนม์ในปี 1572 โอรสคือเจ้าน้อยหน่อเมืองแก้วโกเมน ยังเป็นเด็ก จึงเกิดการแย่งชิงอำนาจอย่างวุ่นวาย อาณาจักรล้านช้างระส่ำระสาย อ่อนแอลง จนที่สุดเสียเมืองแก่เจ้าบุเรงนองแห่งพม่าในปี 1574 และเจ้าน้อยหน่อเมืองแก้วโกเมนถูกนำไปพม่าในฐานะตัวประกัน
ล้านช้างตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอยู่ 18 ปี จนสมัยเจ้านันทบุเรงแห่งพม่า จึงยินยอมแต่งตั้งเจ้าน้อยหน่อเมืองแก้วโกเมนเป็นเจ้าครองเวียงจันทน์ในฐานะประเทศราช ปี 1593 เจ้าน้อยหน่อเมืองแก้วโกเมนประกาศเอกราช และต้องเผชิญการศึกกับพม่าตลอดรัชสมัย
เจ้าสุริยวงศา ครองราชย์ 1637-1694 ยาวนานถึง 57 ปี สร้าง 'ยุคทอง' แห่งอาณาจักรล้านช้าง พระองค์มีสัมพันธไมตรีอันดีกับพระนารายณ์แห่งอาณาจักรอยุธยา ความมั่งคั่งของล้านช้างถูกนำไปทำนุบำรุงศาสนาเป็นหลัก แต่ละเลยด้านอื่นๆ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี 1694 โดยไม่มีรัชทายาท ล้านช้างจึงระส่ำระสายอย่างหนัก การแย่งชิงอำนาจนำไปสู่การแตกแยกเป็นอาณาจักรย่อย ได้แก่ อาณาจักรหลวงพระบาง และอาณาจักรเวียงจันทน์ในปี 1707 และอาณาจักรจำปาสักในปี 1713 ถือเป็นการสิ้นสุดของอาณาจักรล้านช้าง
ช่วงทศวรรษ 1760 และ 1770 พม่ากับอยุธยาทำสงครามกันต่อเนื่อง คู่ศึกทั้งสองต่างต้องสร้างพันธมิตรกับอาณาจักรหลวงพระบางและอาณาจักรเวียงจันทน์ หากปัจจัยทางภูมิศาสตร์ทำให้หลวงพระบางและเวียงจันทน์จำต้องถือหางคู่ศึกคนละฝ่าย จึงยิ่งนำความแตกแยกระหว่างอาณาจักรย่อยทั้งสอง

ประเทศราชของสยาม (1779-1893)
ภายหลังกู้เอกราชจากพม่าได้สำเร็จ และตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว ในปี 1779 (พ.ศ. 2322) พระเจ้าตากได้ส่งกองทัพ โดยมีเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพ เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นรองแม่ทัพ ไปตีจำปาสักและเวียงจันทน์แตก กับบังคับให้หลวงพระบางสวามิภักดิ์ (หลวงพระบางส่งกำลังร่วมกับกองทัพพระเจ้าตากปิดล้อมเวียงจันทน์) อาณาจักรย่อยทั้งสามจึงตกเป็นประเทศราชของสยาม โอรส ธิดา ของเจ้าแห่งอาณาจักรทั้งสามถูกนำกลับกรุงธนบุรีในฐานะตัวประกัน พลเมืองลาวถูกกวาดต้อนเข้ามายังสระบุรีและบริเวณที่ราบสูงโคราชเพื่อใช้เป็นแรงงาน พระแก้วมรกตและพระบาง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ถูกยึดจากเวียงจันทน์นำกลับกรุงธนบุรี ตอกย้ำการสูญเสียเอกราชโดยสิ้นเชิงของเวียงจันทน์
ปี 1782 (พ.ศ. 2325) พระเจ้าตากถูกยึดอำนาจและสำเร็จโทษ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นเป็นรัชกาลที่ 1 ทรงจัดการปกครองประเทศราชใหม่ ผนวกหัวเมืองที่ราบสูงโคราชที่แต่เดิมขึ้นกับลาวให้ขึ้นตรงต่อสยาม เมื่อปี 1778 (พ.ศ. 2321) มีเพียงนครราชสีมาที่ขึ้นตรงต่อสยาม แต่เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 1 ศรีสะเกษ อุบล ร้อยเอ็ด ยโสธร ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ล้วนส่งบรรณาการตรงต่อกรุงเทพฯ แรงงานเชลยลาวที่กวาดต้อนมาเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง การเพิ่มผลผลิตและประชากรบนที่ราบสูงโคราชยังประโยชน์แก่สยามทั้งเชิงทรัพยากรและความมั่นคง
ปี 1780 (พ.ศ. 2323) เจ้าสิริบุญสาร แห่งเวียงจันทน์สิ้นพระชนม์ ขณะนั้นโอรสทั้งสามของพระองค์ได้แก่ นันทเสน อินทวงศ์ และอนุวงศ์ อยู่ในฐานะตัวประกันตั้งแต่คราวกองทัพกรุงธนบุรีตีเวียงจันทน์ปี 1779 ทั้งสามได้กลับไปครองเวียงจันทน์ตามลำดับคือ
เจ้านันทเสน (ครองเวียงจันทน์ 1781-1795) โดยได้รับพระบางคืนด้วย ต่อมาถูกกล่าวหาว่าสมคบกับเจ้านครพนมต่อต้านสยาม รัชกาลที่ 1 จึงให้จับตัว และจองจำไว้จนสิ้นพระชนม์
เจ้าอินทวงศ์ (ครองเวียงจันทน์ 1795-1804) ร่วมกับสยามในการรบกับพม่าเมื่อปี 1797 และ 1802 ตลอดจนการยึดแคว้นสิบสองจุไท โดยมีเจ้าอนุวงศ์เป็นแม่ทัพ
เจ้าอนุวงศ์ (ครองเวียงจันทน์ 1805-1827) เป็นอุปราชตั้งแต่ครั้งเจ้าอินทวงศ์ครองเวียงจันทน์ เมื่อเจ้าอินทวงศ์สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 1 จึงให้เจ้าอนุวงศ์สืบต่อ
ปี 1819 เจ้าอนุวงศ์ยกทัพไปปราบกบฏที่จำปาสักสำเร็จ และเมื่อเจ้าจำปาสักที่ลี้ภัยไปอยู่กรุงเทพฯ สิ้นพระชนม์ เจ้าอนุวงศ์ได้ทูลขอรัชกาลที่ 2 ให้แต่งตั้งโอรสของตนครองจำปาสักแทน โดยได้รับความสนับสนุนจากกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3) จึงนับว่าเจ้าอนุวงศ์สามารถรวมสองในสามของอาณาจักรล้านช้างเดิมกลับเข้าด้วยกัน
ปี 1824 (พ.ศ. 2367) รัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคต เจ้าฟ้ามงกุฎ โอรสของรัชกาลที่ 2 กับพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี เป็นรัชทายาทลำดับที่หนึ่ง หากกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ อายุมากกว่า มีประสบการณ์และผู้สนับสนุนมากกว่า แม้พระมารดาคือพระศรีสุลาลัย มิใช่อัครมเหสีของรัชกาลที่ 2 ก็ตาม วิกฤตการณ์สืบราชสมบัตินี้ผ่อนคลายลงเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎเลือกที่จะครองสมณเพศต่อไป ยินยอมให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์และเจ้าจากหลวงพระบาง จำปาสัก ที่มาร่วมงานถวายพระเพลิงพระศพรัชกาลที่ 2 ในปีถัดมา ย่อมรับรู้สถานการณ์และวิกฤตการณ์ดังกล่าวเช่นกัน ภายหลังงานพระศพเสร็จสิ้น ก่อนกลับเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์ทูลรัชกาลที่ 3 ขอพระแก้วมรกต ขอขนิษฐาคือนางแก้วยอดฟ้ากัลยาณี และขอครัวเชลยชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาแต่ครั้งปี 1779 กลับคืน รัชกาลที่ 3 นอกจากไม่ทรงอนุญาตแล้ว ยังบังคับใช้แรงงานไพร่พลที่ไปกับเจ้าอนุวงศ์ ในการขุดคลอง ตัดตาลที่สุพรรณบุรี แล้วย้ายลงไปในการก่อสร้างพระสมุทรเจดีย์ที่สมุทรปราการ ซึ่งเป็นระยะทางไกล ทำให้คนลาวเจ็บป่วย ล้มตาย เป็นจำนวนมาก จึงยิ่งเพิ่มความเคียดแค้นและน้ำใจต่อสู้แก่เจ้าอนุวงศ์
ปัจจัยแตกหักสำคัญต่อมา คือ รัชกาลที่ 3 ทรงประกาศบังคับสักเลกในหัวเมืองลาว ที่ราบสูงโคราช และที่สระบุรี โดยมีเจ้าเมืองนครราชสีมาเป็นแม่กอง สร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรง ผู้คนอพยพหลบหนีข้ามโขงไปยังเวียงจันทน์
ในห้วงระยะนั้น ฝ่ายพม่าได้เกิดสงครามกับอังกฤษครั้งที่ 1 (1824-1826) และสูญเสียดินแดนสำคัญหลายแห่ง ไม่อาจคุกคามเวียงจันทน์อีกต่อไป
ปี 1826 (พ.ศ. 2369) สยามต้องยินยอมทำสัญญาเบอร์นี (Burney Treaty) กับอังกฤษ ทำให้เจ้าอนุวงศ์มองเห็นความอ่อนแอลงของสยาม จึงตระเตรียมกำลังในการประกาศเอกราช
ธันวาคม 1826 (พ.ศ. 2369) เจ้าอนุวงศ์ส่งทัพที่ 1 ลงมาทางกาฬสินธุ์ตามเส้นทางการบังคับสักเลก
มกราคม 1827 (พ.ศ. 2370) เจ้าอนุวงศ์ยกทัพที่ 2 เข้ายึดนครราชสีมา กำลังส่วนหนึ่งแยกเป็นทัพที่ 3 ไปทางหล่มสัก ชัยภูมิ จนถึงสระบุรี เพื่อกวาดครัวเชลยชาวลาวกลับคืนเวียงจันทน์ และทัพที่ 4 นำโดยเจ้าราชบุตรจากจำปาสักยกไปตีอุบล
อย่างไรก็ตาม การถอยทัพกลับเป็นไปอย่างล่าช้าด้วยครัวลาวจำนวนมาก นอกจากนี้เจ้าอนุวงศ์ยังเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ในการตามล่าตัวเจ้าเมืองนครราชสีมา แม่กองสักเลก ซึ่งหลบอยู่ที่ขุขันธ์
สยามจัดกำลังเป็น 2 ทัพใหญ่ ทัพแรกขึ้นไปทางสระบุรี เข้ายึดคืนนครราชสีมา ทัพที่ 2 ไปทางลุ่มป่าสักเข้าหล่มสัก เจ้าอนุวงศ์ถอยทัพไปตั้งมั่นที่หนองบัวลำภู ฐานสำคัญของตน เพื่อรบกับทัพสยาม กำลังทหารจำนวนมากและอาวุธปืนทันสมัยเหลือใช้จากสงครามนโปเลียนในยุโรป ซึ่งสยามซื้อจากอังกฤษสะสมตั้งแต่ปี 1822 (พ.ศ. 2365) เป็นสิ่งท่ีเจ้าอนุวงศ์คะเนผิดพลาด เพียง 3 วัน หนองบัวลำภูก็แตก ทัพเจ้าอนุวงศ์ต้องถอยร่นข้ามไปเวียงจันทน์ ทัพสยามรุกติดตาม อีก 5 วันต่อมา เวียงจันทน์ก็แตก เจ้าอนุวงศ์หนีไปเวียดนาม แม่ทัพของสยาม พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) (ต่อมาเลื่อนเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา) สั่งทำลายพระราชวังและป้อมปราการของเวียงจันทน์ เว้นวัดและส่วนอื่นของเมืองไว้ ยึดอาวุธต่างๆ ตลอดจนใช้เวลาอีกหลายเดือนกวาดต้อนครัวชาวเวียงจันทน์กลับที่ราบสูงโคราช เหลือกองทหารขนาดเล็กไว้ดูแลฝั่งตรงข้ามโขงของเมืองที่รกร้างแล้ว
เมื่อเจ้าอนุวงศ์ยกกำลังทหารราว 1,000 คนกลับมาเวียงจันทน์ พบว่าเมืองร้างผู้คน และทราบว่าพระยาราชสุภาวดีได้สร้างอนุสรณ์แห่งชัยชนะเป็นเจดีย์ 9 ยอด ที่วัดทุ่งสว่างชัยภูมิ เมืองยโสธร อันเป็นสถานที่พักทัพ ด้วยความกริ้ว เจ้าอนุวงศ์จึงยกกำลังข้ามโขง เข้าโจมตีและสังหารกองทหารสยามที่รักษาการฝั่งตรงข้ามนั้น
รัชกาลที่ 3 ทรงพระพิโรธยิ่ง รับสั่งให้พระยาราชสุภาวดีกลับไปทำลายเวียงจันทน์ให้ราบและจับตัวเจ้าอนุวงศ์ให้ได้
พระยาราชสุภาวดีติดตามเจ้าอนุวงศ์ไปจนจับได้ที่เชียงขวาง และนำตัวกลับกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 3 รับสั่งให้ขังเจ้าอนุวงศ์ไว้ในกรงเหล็ก พร้อมเครื่องทรมานต่างๆ กรงเหล็กนี้ให้ตั้งตากแดดประจานที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เพียงไม่กี่วัน เจ้าอนุวงศ์ก็สิ้นพระชนม์ (61 พรรษา)
เมืองเวียงจันทน์ถูกทำลายราบ พระบางและพระพุทธรูปสำคัญอีกหลายองค์ถูกยึดอัญเชิญกลับสยาม ประชาชนถูกกวาดต้อนย้ายถิ่นอย่างสิ้นเชิง อาณาจักรเวียงจันทน์ถึงแก่การล่มสลาย ปราศจากเจ้าครองต่อไป แม้กว่า 30 ปีให้หลัง คณะสำรวจชาวฝรั่งเศสบันทึกไว้ว่าพบแต่ซากปรักรกร้างตรงที่เมืองเคยตั้งอยู่ อาณาจักรลาวที่เหลือคือหลวงพระบางและจำปาสักถูกควบคุมเข้มงวดยิ่งขึ้น ที่ราบสูงโคราชถูกผนวกเข้าเป็นส่วนของสยามทั้งหมด
การเทครัวพลเมืองลาวครั้งนี้เป็นการโยกถิ่นประชากรครั้งใหญ่มาก ส่งผลถึงปัจจุบันที่ประเทศลาวมีประชากรเพียง 7 ล้านคน ขณะที่ภาคอีสานของไทยมีประชากรเชื้อสายลาวถึง 22 ล้านคน
ภายหลัง 'กบฏเจ้าอนุวงศ์' เกิด 'ตำนาน' วีรสตรีของสยาม คือท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) ซึ่งต่อมาในช่วงทศวรรษ 1930 ได้รับการโฆษณาตามนโยบายชาตินิยมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม นัยเพื่อรณรงค์ทางการเมือง การทหาร สู่การรวบรวมชนชาติไต ที่เรียกว่า 'ลัทธิชาติไทยใหญ่'
ข้างฝ่ายลาว ถือว่าเจ้าอนุวงศ์เป็นวีรบุรุษ ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 รัฐบาลลาวเชิดชูกรณี 'สงครามกู้เอกราชของเจ้าอนุวงศ์' ว่าเป็นการศึกเพื่อปลดแอกประเทศราชจากสยาม ถึงแม้ไม่สำเร็จและนำสู่การล่มสลายของเวียงจันทน์ก็ตาม ต่อมาปี 2010 ในวาระ 450 ปี นครหลวงเวียงจันทน์ รัฐบาลลาวได้จัดสร้างอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ประดิษฐานหน้าสวนสาธารณะใหญ่ชื่อเดียวกัน ณ ใจกลางนครหลวง เป็นสัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณที่ต้องการอิสรภาพ เสรีภาพ ไม่ยอมจำนนเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ
ภายหลังเหตุการณ์เจ้าอนุวงศ์ ความขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับสยามต่อผลประโยชน์และดินแดนลาวยิ่งเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่สงครามสยาม-เวียดนามในช่วงทศวรรษ 1830 เวียดนามผนวกเชียงขวาง ส่วนจีนภายหลังกบฏไทปิงได้แผ่อิทธิพลลงมาตามน้ำโขง เกิดสงครามฮ่อในช่วงทศวรรษ 1860 ความไม่สงบขาดเสถียรภาพของภูมิภาคทำให้เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสรุกเข้ายึดครองอินโดจีนได้โดยสะดวก...

สัญญาไมตรีระหว่างล้านช้างกับอยุธยาซึ่งจารึกมั่นคงบนศิลา สำทับด้วยพระธาตุศรีสองรักอันเป็นหลักเขตแดน ไม่อาจรับรองการเคารพอธิปไตยระหว่างกันในคนรุ่นต่อมา ลาวจึงตกเป็นประเทศราชของสยามนับเวลากว่าศตวรรษ ในห้วงนั้น ลาวต้องอยู่ในสภาพดังเช่นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ที่ว่า
'ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไส
เคี่ยวเข็ญเย็นค่ำกรำไป ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย
เขาจะเห็นแก่หน้าค่าชื่อ จะนับถือพงศ์พันธุ์นั้นอย่าหมาย
ไหนจะต้องเหนื่อยยากลำบากกาย ไหนจะอายทั่วทั้งโลกา'


ข้อมูลค้นจาก
สมชาย นิลอาธิ (ถอดความ). ประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาธิการฯ ลาว. สำนักพิมพ์มติชน. 2545.
wikipedia.org
sac.or.th
Cr:http://mtreeanun.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น