อาณานิคมของฝรั่งเศส
อาณานิคมของฝรั่งเศส (1893-1954)
ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่อังกฤษและฝรั่งเศสก้าวขึ้นเป็นเจ้าอาณานิคม ออกล่าเมืองขึ้นทั่วโลก ในเอเชีย อังกฤษใช้กำลังยึดเอาประเทศอินเดีย พม่า อินโดนีเซีย มลายู สิงคโปร์ และแผ่อิทธิพลเข้าสยาม ส่วนฝรั่งเศสเข้ายึดเขตตะวันออกของภาคใต้เวียดนามในปี 1862 และกัมพูชาในปี 1863
ปี 1866 ฝรั่งเศสส่งคณะนำโดย Doudart de Lagree และ Francis Garnier สำรวจลำน้ำโขงขึ้นไปถึงประเทศจีน
ปี 1887 ภายหลังยึดดินแดนประเทศเวียดนามและกัมพูชาได้ทั้งหมดแล้ว ฝรั่งเศสแต่งตั้ง Auguste Pavie เป็นกงสุลประจำราชวังหลวงพระบาง เตรียมการยึดครองลาวที่เป็นประเทศราชของสยาม พร้อมกันนั้น ฝรั่งเศสก็ได้ยุยงพวกฮ่อธงดำธงแดงก่อความวุ่นวายขึ้นในเขตสิบสองจุไท แล้วฉวยโอกาสส่งกองทหารของตนยึดครองเขตนั้นโดยอ้างว่า 'ปราบฮ่อ' พวกฮ่อได้ปล้นสะดมลงมาทางแขวงหัวพันและเชียงขวาง จนวันที่ 10 มิถุนายน 1887 เข้าปล้นสะดมนครหลวงพระบาง Pavie ฉวยโอกาสพาเจ้าอุ่นคำพร้อมวงศานุวงศ์ลงเรือไปลี้ภัยอยู่แก้งหลวง เขตเมืองปากลาย สร้างความนิยมให้ตนเอง ฝ่ายพวกฮ่อธงดำธงแดงได้ปล้นสะดมต่อลงมาทางเวียงจันทน์ ทำลายธาตุหลวง ธาตุดำ เพื่อค้นหาสมบัติ ในเวลานั้นฝ่ายสยามส่งกองทหารภายใต้การบัญชาของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ขึ้นไปปราบฮ่อ ฝ่ายฝรั่งเศสก็ขนทหารของตนเข้าไปในลาวเช่นกัน โดยแบ่งเป็น 3 ปีก ปีกหนึ่งจากกัมพูชาผ่านเมืองเชียงแตงตีเอาจำปาสัก ปีกสองเข้าทางกิ่งลาวบาวข้ามชายแดนภูหลวงตีเอาสะหวันนะเขต และปีกสามจากดงเฮียตีเอาคำม่วน
แม้อาณาจักรลาวล้านช้างตกเป็นเมืองขึ้นของสยามตั้งแต่ 1779 แต่มีบางเขตเช่น เมืองพวน ภาคตะวันออกของแขวงคำม่วน และแขวงสะหวันนะเขต ตกอยู่ในอิทธิพลของเวียดนาม เมื่อฝรั่งเศสยึดเอาประเทศเวียดนามแล้ว จึงถือว่าประเทศลาวต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของตนเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นดังนั้น จึงเกิดการขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม ทั้งสองฝ่ายต่างขนกองทหารเข้าไปในลาวเพื่อรักษาเมืองขึ้นของตนไว้ และเกิดการปะทะกันในเดือนกรกฎาคม 1893 (พ.ศ. 2436) ที่บ้านแก้งเจ็ก แขวงคำม่วน ทหารฝรั่งเศสล้มตายจำนวนหนึ่ง ฝรั่งเศสจึงยื่นบันทึกเกี่ยวกับกรณีพิพาทบ้านแก้งเจ็ก ขู่บังคับให้สยามชดใช้ค่าหัวทหารฝรั่งเศสที่ตาย ให้สยามถอนทหารออกจากลาวภายใน 48 ชั่วโมง และให้ยกดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงแก่ฝรั่งเศส หาไม่ ฝรั่งเศสจะส่งเรือรบยิงถล่มกรุงเทพฯ เมื่อสยามไม่ตอบสนองคำขู่ ฝรั่งเศสจึงส่งเรือรบเข้าอ่าวไทยจนถึงปากน้ำเจ้าพระยา เกิดการยิงต่อสู้กัน เรือรบฝรั่งเศสสามารถฝ่าแนวป้องกันของสยามเข้าไปถึงกรุงเทพฯ หันปากกระบอกปืนเข้าหาพระบรมมหาราชวัง วันที่ 3 ตุลาคม 1893 (พ.ศ. 2436) รัชกาลที่ 5 ต้องเซ็นสัญญายกดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส เหตุการณ์นี้เรียกว่า 'วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112'
ต่อมาสยามต้องยกดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสในปี 1904 (พ.ศ. 2447) และปี 1907 (พ.ศ. 2450)
ประเทศลาวเปลี่ยนจากประเทศราชของสยามเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสแบ่งแยกดินแดนอินโดจีนที่ตนยึดไว้ออกเป็น 5 แคว้น ได้แก่ เวียดนามถูกตัดเป็น 3 แคว้น คือ ภาคเหนือเรียกว่า Tonkin มีเมืองหลวงอยู่ Hanoi ภาคกลางเรียกว่า Annam มีเมืองหลวงอยู่ Hue และภาคใต้เรียกว่า Cochinchina มีเมืองหลวงอยู่ Saigon ส่วนกัมพูชาและลาว จัดเป็นอีก 2 แคว้น ทั้ง 5 แคว้นนี้มีผู้สำเร็จราชการใหญ่เป็นผู้ปกครอง สำนักงานใหญ่อยู่ Hanoi ขึ้นกับกระทรวงอาณานิคมของฝรั่งเศสที่ปารีสโดยตรง แต่ละแคว้นมีผู้สำเร็จราชการ กองทหาร ตำรวจ และตุลาการ เป็นเครื่องมือเผด็จการ และเพื่อปราบปรามพวกรักชาติต่อต้าน ฝรั่งเศสได้สร้างคุกที่เกาะกวนดาว นอกชายฝั่งทะเลเวียดนาม สำหรับคุมขังนักโทษการเมือง
ในลาว ฝรั่งเศสแบ่งการปกครองเป็น 2 ส่วนต่างกันคือ 'ประเทศลาวในอารักขา' และ 'ประเทศลาวเมืองขึ้น' ประเทศลาวในอารักขาได้แก่อาณาจักรหลวงพระบาง มีเจ้ามหาชีวิตเป็นประมุขและมีรัฐบาลที่มีชื่อว่า 'หอสนามหลวง' บริหารประเทศภายใต้การควบคุมของข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำราชสำนัก ส่วนประเทศลาวเมืองขึ้น ขึ้นกับผู้สำเร็จราชการใหญ่ประจำอินโดจีนที่ Hanoi ในเวลานั้นประเทศลาวแบ่งออกเป็น 10 แขวง แต่ละแขวงมีคนฝรั่งเศสเป็นเจ้าแขวงเรียกว่า commissaire เลือกชนชั้นศักดินาจำนวนหนึ่งมาประกอบเป็นสภาท้องถิ่น
เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสมิได้ตั้งใจให้คนลาวได้รับประโยชน์จากการพัฒนาใดๆ การยึดครองเพียงเพื่อกอบโกยทรัพยากร อาทิ ตะกั่ว ไม้สัก ครั่ง ด้านกสิกรรม ได้จับจองดินดอนที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ภูเพียงบอละเวนที่คลุมเนื้อที่ 20,000 เฮกตาร์ เป็นแหล่งปลูกพืชอุตสาหกรรม ได้แก่ กาแฟ ชา เป็นต้น บรรดาตัวเมืองที่มีคนฝรั่งเศสอยู่ จึงมีการสร้างโรงไฟฟ้า น้ำประปาไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อใช้กันเอง นอกจากนี้ ยังบังคับเกณฑ์แรงงานชาวลาวในการสร้างทางอย่างน้อยคนละ 60 วัน ไม่มีค่าจ้าง ไม่มีอาหารให้ ยิ่งกว่านั้น ประชาชนยังต้องเสียส่วย ทั้งส่วยค่าหัว ส่วยแรงงาน เสียค่าหัวสัตว์ที่ครอบครอง ช้าง ม้า วัว ควาย ด้านวัฒนธรรมและสังคม การศึกษาเป็นแบบเมืองขึ้น ให้เรียนเป็นภาษาฝรั่งเศส ไม่ให้ความสนใจกับภาษาลาว งบประมาณการศึกษามีเพียงเล็กน้อย ทั้งประเทศมีโรงเรียนเพียง 2 หลัง หลังหนึ่งอยู่หลวงพระบาง อีกหลังหนึ่งอยู่เวียงจันทน์ ด้านสุขภาพ มีโรงพยาบาลใหญ่เพียงแห่งเดียวที่เวียงจันทน์ และโรงพยาบาลขนาดเล็ก 4 แห่ง อยู่หลวงพระบาง ท่าแขก ปากเซ และสะหวันนะเขต ซ้ำโรงพยาบาลรับใช้เฉพาะพวกฝรั่งเศสและศักดินา ส่วนชาวลาวทั่วไปเข้าไม่ถึงบริการ
การล่าเมืองขึ้น ยึดเอาแผ่นดินลาว แบ่งแยก ปราบปราม เก็บเกณฑ์ และกดขี่ขูดรีดประชาชนลาวอย่างโหดเหี้ยมของฝรั่งเศส ผลักดันให้คนลาวที่มีใจรักชาติรักความเป็นเอกราช ไม่ยอมจำนน ได้ลุกขึ้นจับอาวุธต่อสู้ ขบวนที่เด่นได้แก่
ขบวนต่อสู้ของพ่อกะดวด (1901-1903) พ่อกะดวดเป็นลาวเทิง อยู่บ้านคันทะจาน เมืองคันทะบุรี แขวงสะหวันนะเขต ได้รวบรวมกำลังผู้ต่อต้านฝรั่งเศสขึ้นที่บ้านโพนสีดา เมืองจำพอน แขวงสะหวันนะเขต เข้าโจมตีค่ายทหารที่เมืองสองคอน ต่อมาเข้าปิดล้อมเมืองสะหวันนะเขต หากกองทหารฝรั่งเศสมีกำลังและอาวุธเหนือกว่า กำลังของพ่อกะดวดจึงต้องล่าถอยและถูกกวาดล้าง ที่สุดพ่อกะดวดถูกจับได้และถูกทุบตีทรมานจนถึงแก่ความตาย
ขบวนต่อสู้ขององค์แก้ว และองค์กมมะดำ (1901-1937) เคียงคู่กับขบวนต่อสู้ทางแขวงสะหวันนะเขตของพ่อกะดวด ทางภาคใต้ของลาว จากภูหลวงชายแดนเวียดนามถึงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขง เขตอุบลราชธานี ขบวนต่อสู้ภายใต้การนำขององค์แก้ว รวบรวมลาวเทิงเผ่าต่างๆ เขตที่มั่นภูเพียงบอละเวน เข้าต่อสู้กับฝรั่งเศสในลักษณะกองโจร ฝ่ายฝรั่งเศสไม่สามารถปราบปรามได้ จนปี 1907 จึงใช้อุบายไกล่เกลี่ย ให้เจ้าราชสะดาไน (พ่อเจ้าบุญอุ้ม) เชิญองค์แก้วมาเจรจากับฟรังเดอแล ผู้แทนฝรั่งเศส ที่วัดร้างกลางเมืองสาละวัน ขณะเจรจานั้น ฟรังเดอแลชักปืนยิงองค์แก้วเสียชีวิต หลังองค์แก้วถูกสังหาร องค์กมมะดำได้นำขบวนต่อสู้แทนและสามารถขยายวงเข้มแข็งยิ่งขึ้น ต้นปี 1936 ฝรั่งเศสระดมกำลังจากเขตต่างๆ ทั้งอินโดจีนเข้าตีเขตภูเพียงบอละเวน ในที่สุดองค์กมมะดำเสียชีวิตในการรบกลางที่มั่นภูหลวง ทำให้ขบวนต่อสู้ทางภาคใต้ของลาวสูญสลายไป
ขบวนต่อสู้ของเจ้าฟ้าปาไจ (1918-1922) ทางภาคเหนือก็เกิดขบวนต่อสู้ของลาวสูงโดยการนำของเจ้าฟ้าปาไจ เริ่มที่เมืองซ่อน แขวงหัวพัน แล้วลามไปยังแขวงเชียงขวาง แขวงหลวงพระบาง และภาคตะวันตกตอนเหนือของเวียดนาม การเคลื่อนไหวแบบกระจายอยู่ทุกแห่งของขบวนต่อสู้ทำให้ฝรั่งเศสไม่อาจเอาชนะได้ ฝรั่งเศสจึงใช้วิธีส่งสายเพื่อลอบสังหารเจ้าฟ้าปาไจ ในที่สุดเจ้าฟ้าปาไจก็ถูกลอบสังหารที่เมืองเหิบ แขวงหลวงพระบาง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 1922 ขบวนต่อสู้ของเจ้าฟ้าปาไจก็ค่อยสูญสลายไป
การต่อสู้ของประชาชนลาวหลายขบวนดังกล่าวแสดงให้เห็นจิตใจองอาจกล้าหาญ ไม่ยอมจำนนศัตรู แต่สุดท้ายขบวนต่างๆ ก็ถูกทำลายหมด ด้วยการต่อสู้ของประชาชนล้วนแต่เกิดขึ้นเอง ขาดการนำ ขาดการประสานร่วมมือกัน และขาดอาวุธ
ปี 1930 Ho Chi Minh ซึ่งเคลื่อนไหวต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ได้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และต่อมาเปลี่ยนเป็นพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน ด้วยเห็นว่าการปฏิวัติเวียดนามไม่อาจแยกออกจากการปฏิวัติลาวและกัมพูชาได้ พร้อมกันนั้นได้สร้างแนวร่วมขึ้น ชื่อว่า 'สมาคมสัมพันธ์อินโดจีนต้านฝรั่งเศส'
ปี 1934 ในลาว มีการจัดตั้ง 'คณะพรรคแคว้นลาว' เพื่อนำการต่อสู้ เมื่อขบวนเติบใหญ่ขยายตัว จึงเปลี่ยนชื่อเป็น 'ขบวนลาวอิสระ' ต่อมาเปลี่ยนเป็น 'แนวลาวอิสระ' ในปี 1950 และ 'แนวลาวรักชาติ' ในปี 1956
ลัทธิล่าอาณานิคมพลิกผัน สถานการณ์โลกเปลี่ยน เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939-1945)...
มิถุนายน 1940 กองทัพเยอรมนีบุกเข้าฝรั่งเศสและยึดกรุงปารีสได้ ฝรั่งเศสต้องจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น
ในเอเชีย ญี่ปุ่นเปิดแนวรบใหญ่ ขยายอิทธิพล โดยอ้างว่าเพื่อสร้าง 'วงไพบูลย์แห่งมหาเอเชียบูรพา' ยกทัพเข้าอินโดจีน ผลักดันให้ไทยในฐานะพันธมิตรขยาย 'ลัทธิชาติไทยใหญ่' บังคับให้ฝรั่งเศสยกดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโขงของลาว และแขวงพระตะบอง เสียมเรียบ ศรีโสภณของกัมพูชาให้ไทย เมื่อกำลังของฝรั่งเศสในอินโดจีนอ่อนลงสุดขีด ญี่ปุ่นจึงใช้กำลังยึดอินโดจีนทั้งหมด เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 1945
นับแต่กลางปี 1945 สถานการณ์สงครามพลิกกลับ ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในทุกสมรภูมิ วันที่ 6 สิงหาคม 1945 Hiroshima ถูกทำลายราบด้วยระเบิดปรมาณู ตามด้วย Nagasaki ในวันที่ 9 สิงหาคม 1945 ที่สุดจักรพรรดิ์ญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้ในวันที่ 14 สิงหาคม 1945
วันที่ 12 ตุลาคม 1945 เจ้าเพชราช ผู้นำรัฐบาลลาวอิสระ ประกาศเอกราชไม่ยอมเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ณ นครหลวงเวียงจันทน์ ต่อหน้าประชาชนลาว
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง กองทหารอังกฤษและทหารจีนเจียงไคเช็คได้รับหน้าที่จากกำลังสัมพันธมิตรปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในอินโดจีนตาม Potsdam Agreements กองทหารอังกฤษได้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นนับแต่เส้นขนานที่ 16 ลงไป ส่วนทหารจีนเจียงไคเช็คนับแต่เส้นขนานที่ 16 ขึ้นไป ขณะนั้นฝรั่งเศสฉวยโอกาสขนกองทหารของตนเข้าลาวทางภาคเหนือ โดยตกลงทำสัญญาลับกับทหารจีนเจียงไคเช็ค และขนทหารคอมมานโดโดดร่มลงเขตโพนสวรรค์ ทางภาคใต้ฝรั่งเศสขนทหารตั้งที่ปากเซโดยการร่วมมือของเจ้าบุญอุ้ม รัฐบาลลาวอิสระเตรียมกำลังต่อต้านฝรั่งเศส แต่เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์แห่งหลวงพระบางไม่เห็นชอบ ด้วยยังอยากอยู่ใต้อารักขาของฝรั่งเศส จึงสั่งปลดเจ้าเพชราชออกจากตำแหน่งมหาอุปราช เพื่อเป็นการตอบโต้คำสั่งเจ้าศรีสว่างวงศ์ รัฐบาลลาวอิสระได้เปิดสภาประชาชน สั่งปลดเจ้าชีวิตออกจากราชบัลลังก์และประกาศไม่รับรู้สัญญาลาว-ฝรั่งเศสที่ได้เซ็นกันมา ในหลวงพระบาง ประชาชนได้ใช้กำลังปิดล้อมและบังคับให้เจ้าชีวิตอยู่ในบริเวณราชวัง และกักขังนายทหารตัวแทนฝรั่งเศสที่มาเจรจากับเจ้าชีวิต
ต้นปี 1946 ฝรั่งเศสส่งกองทหารบุกโจมตีลาวทุกๆ ด้านขนานใหญ่ ทางภาคเหนือยึดเอาแขวงพงสาลี แขวงเชียงขวาง ทางภาคใต้โดยความร่วมมือของเจ้าบุญอุ้ม ยึดเอาภูเพียงบอละเวน และต่อมาตียึดได้สะหวันนะเขต ตามด้วยท่าแขก เวียงจันทน์ และหลวงพระบาง ในที่สุดฝรั่งเศสก็ยึดเอาลาวกลับคืนเป็นอาณานิคมได้อีกครั้ง
ปี 1949 ฝรั่งเศสแต่งตั้งเจ้าบุญอุ้มเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมารัฐบาลเจ้าบุญอุ้มเซ็นสัญญาร่วมฝรั่งเศส-ลาว เพื่อมอบ 'เอกราชในเครือสหพันธ์ฝรั่งเศส' แก่ลาว
ฝ่ายลาวอิสระได้เคลื่อนไหวต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธอยู่ทางภาคตะวันออก ตั้งแต่แขวงหัวพันถึงสาละวัน อัตตะปือ แต่ขบวนลาวอิสระพลัดถิ่นกลับเกิดการขัดแย้งกัน พวกหนึ่งนำโดยกระต่าย อุ่น ชะนะนิกอน เห็นควรให้ยุบขบวนการลาวอิสระและเข้าร่วมมือกับฝรั่งเศส อีกพวกมีเจ้าสุภานุวงศ์เป็นหัวหน้า เห็นว่าต้องต่อสู้จนถึงขั้นแย่งเอาชัยชนะอย่างสมบูรณ์ เจ้าสุภานุวงศ์ กับพูมี วงวิจิด นำกำลังเคลื่อนไหวอยู่ตามชายแดนลาว-ไทย ในเขตเมืองเชียงฮ่อน เชียงลม แขวงไชยบุรี ส่วนสิงกะโปเคลื่อนไหวอยู่แขวงคำม่วนและสะหวันนะเขต ต่อมาผู้นำแต่ละขบวนได้รวมตัวกันจัดตั้ง 'แนวลาวอิสระ' เพื่อเอกภาพในการต่อสู้เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 1950 และจัดตั้ง 'รัฐบาลลาวต่อต้าน' โดยมีเจ้าสุภานุวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี แนวลาวอิสระต่อสู้กับพวกฝรั่งเศสด้วยกำลังอาวุธ ส่วนรัฐบาลลาวต่อต้านดำเนินงานทางการเมืองระหว่างประเทศ ในห้วงเวลาที่ระบอบสังคมนิยมขยายตัวอย่างมากทั้งในยุโรป เอเชีย และแอฟริกาเหนือ
ฤดูหนาวปี 1953 ถึงฤดูใบไม้ผลิปี 1954 ฝรั่งเศสเพลี่ยงพล้ำในทุกสมรภูมิอินโดจีน แนวลาวอิสระทยอยยึดได้ส่วนใหญ่ของแขวงคำม่วน บางส่วนของแขวงสะหวันนะเขต แขวงหัวพัน ภูเพียงบอละเวน แขวงอัตตะปือ แขวงสาละวัน แขวงพงสาลี และแขวงหลวงพระบาง
ในเวียดนาม วันที่ 7 พฤษภาคม 1954 นายพล Vo Nguyen Giap นำกำลังทหาร Viet Minh 55,000 นาย โจมตีที่มั่นสุดท้ายของฝรั่งเศสซึ่งเหลือกำลังพล 16,000 นาย ที่ Dien Bien Phu ภายหลังปิดล้อมอยู่ 55 วัน การรบนองเลือดเบ็ดเสร็จ ฝรั่งเศสต้องยอมจำนน ปิดฉากการเป็นเจ้าอาณานิคมอินโดจีนที่ดำรงมากว่า 100 ปี และนำสู่การเจรจาสันติภาพที่ Geneva ในวันรุ่งขึ้น (8 พฤษภาคม 1954) นัยเพื่อการถอยออกจากอินโดจีน 'อย่างมีเกียรติ' ของฝรั่งเศส
การเจรจาที่ Geneva เป็นไปอย่างเคร่งเครียด กินเวลาถึง 75 วัน ที่สุด Geneva Accords จึงได้ลงนามกันในวันที่ 20 กรกฎาคม 1954
สาระสำคัญของ Geneva Accords ต่อลาว ได้แก่ การหยุดยิงและการถอนทหารต่างด้าวออกจากลาว การห้ามไม่ให้กองทหารต่างด้าวใดๆ แทรกซึม และห้ามนำอาวุธยุทธภัณฑ์เข้าไปในประเทศลาว การแยกกำลังและกำหนดที่ตั้งของกองทหารลาวแต่ละฝ่ายระหว่างรอการรวมประเทศ การจัดการเกี่ยวกับเชลยศึก และการตั้งกรรมการตรวจตราสากล
Winston S. Churchill นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร บันทึกไว้ว่า วันหนึ่งในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2 ประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt แห่งสหรัฐอเมริกา เปรยว่า เขากำลังสอบถามความเห็นจากสาธารณะ ถึงชื่อเรียกสงครามที่กำลังจะสิ้นสุดนี้ Churchill โพล่งออกมาทันทีว่า 'The Unnecessary War'
กงล้อประวัติศาสตร์ที่หมุนไป สำแดงให้เห็นว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนวิถีการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกที่ดำรงต่อเนื่องมากว่าศตวรรษต้องยุติลง การสู้รบกันเองระหว่างเจ้าอาณานิคมในแผ่นดินแม่ของตน นำมาซึ่งความย่อยยับและลดทอนอำนาจเดิมของทั้งสองฝ่าย จนที่สุดจำต้องทยอยคายอาณานิคมที่ตนใช้กำลังอธรรมยึดไว้ในอีกซีกโลก สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็น 'The Utmost Necessary War' ต่อการปลดแอกอาณานิคมจากชาติตะวันตก
ข้อมูลค้นจาก
สมชาย นิลอาธิ (ถอดความ). ประวัติศาสตร์ฉบับกระทรวงศึกษาธิการฯ ลาว. สำนักพิมพ์มติชน. 2545.
wikipedia.org
Churchill, WS. The Second World War. Pimlico. 2002.
Vietnam. National Geographic Traveler. 2006.
Cr: http://mtreeanun.blogspot.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น