วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

ประวัติศาสตร์พม่า

ประวัติศาสตร์พม่า



มนุษย์ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนของประเทศพม่าราว 11,000 ปีมาแล้ว แต่ชนเผ่าแรกที่สามารถสร้างอารยธรรมขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของตนได้ก็คือชาวมอญ ชาวมอญได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้เมื่อราว 2,400 ปีก่อนพุทธกาล และได้สถาปนาอาณาจักรสุวรรณภูมิ อันเป็นอาณาจักรแห่งแรกขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 2 ณ บริเวณใกล้เมืองท่าตอน (Thaton) ชาวมอญได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธผ่านทางอินเดียในราวพุทธศตวรรษที่ 2 ซึ่งเชื่อว่ามาจากการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช บันทึกของชาวมอญส่วนใหญ่ถูกทำลายในระหว่างสงคราม วัฒนธรรมของชาวมอญเกิดขึ้นจากการผสมเอาวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ากับวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเองจนกลายเป็นวัฒนธรรมลักษณะลูกผสม ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 ชาวมอญได้เข้าครอบครองและมีอิทธิพลในดินแดนตอนใต้ของพม่า

ยุคทองของมอญเริ่มที่ หงสาวดี หรือที่เรียกว่า พะโค (เมียนมาร์ออกเสียงแบ่กู) โดยพระเจ้าปยาอู ได้ย้ายราชธานีมาอยู่ที่หงสาวดีในปี พ.ศ. 1908 และเมืองนี้ได้เจริญรุ่งเรืองติดต่อกันมาเกือบ 300 ปี พระมหากษัตริย์ของมอญที่ไทยเราคุ้นเคยพระนาม ได้แก่ พระเจ้าราชาดีริด (พระเจ้าราชาธิราช) พระนางชินส่อปุ๊ (พระนางเช็งสอบู) และพระเจ้าธรรมเจดีย์ เป็นต้น อาณาจักรมอญได้รบพุ่งกับชาวพม่ามาเป็นเวลานาน ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะเรื่อยมา จนใน พ.ศ. 2084 พระเจ้า ตะเบงเชวตี้ ได้บุกตีเมืองหงสาวดีและยึดเมืองได้ ทรงสถาปนาหงสาวดีเป็นราชธานีของอาณาจักรพุกามที่ 2 อาณาจักรมอญได้ฟื้นขึ้นอีกใน พ.ศ. 2283 แต่อยู่ได้เพียง 17 ปี ก็ถูกพระเจ้าอลองพญาแห่งราชวงศ์โคบองของพม่า กรีฑาทัพมาปราบปรามและรวมอาณาจักรมอญไว้ในอำนาจของพม่าเรื่อยมา ชาวมอญที่หนีรอดได้มาพึ่งไทย บางส่วนที่เหลืออยู่ก็ถูกกลืนโดยการแต่งงานกับชาวพม่า และถูกผนวกเป็นรัฐหนึ่งในประเทศเมียนมาร์มาจนปัจจุบันนี้ แต่ชาวมอญยังมีความพยายามกู้ชาติมาจนทุกวันนี้เช่นกัน

ชาวปยูหรือพยูเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนประเทศพม่าตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 4 และได้สถาปนานครรัฐขึ้นหลายแห่ง เช่นที่ พินนาคา (Binnaka) มองกะโม้ (Mongamo) ศรีเกษตร (Sri Ksetra) เปียทะโนมโย (Peikthanomyo) และหะลินยี (Halingyi) ในช่วงเวลาดังกล่าว ดินแดนพม่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าระหว่างจีนและอินเดีย

จากเอกสารของจีนพบว่า มีเมืองอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของชาวพยู 18 เมือง และชาวพยูเป็นชนเผ่าที่รักสงบ ไม่ปรากฏว่ามีสงครามเกิดขึ้นระหว่างชนเผ่าพยู ข้อขัดแย้งมักยุติด้วยการคัดเลือกตัวแทนให้เข้าประลองความสามารถกัน ชาวพยูสวมใส่เครื่องแต่งกายที่ทำจากฝ้าย อาชญากรมักถูกลงโทษด้วยการโบยหรือจำขัง เว้นแต่ได้กระทำความผิดอันร้ายแรงจึงต้องโทษประหารชีวิต ชาวพยูนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท เด็ก ๆ ได้รับการศึกษาที่วัดตั้งแต่อายุ 7 ขวบจนถึง 20 ปี

นครรัฐของชาวพยูไม่เคยรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่นครรัฐขนาดใหญ่มักมีอิทธิพลเหนือนครรัฐขนาดเล็กซึ่งแสดงออกโดยการส่งเครื่องบรรณาการให้ นครรัฐที่มีอิทธิพลมากที่สุดได้แก่ศรีเกษตร ซึ่งมีหลักฐานเชื่อได้ว่า เป็นเมืองโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศพม่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าอาณาจักรศรีเกษตรถูกสถาปนาขึ้นเมื่อใด แต่มีการกล่าวถึงในพงศาวดารว่ามีการเปลี่ยนราชวงศ์เกิดขึ้นในปีพุทธศักราช 637 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาณาจักรศรีเกษตรต้องได้รับการสถาปนาขึ้นก่อนหน้านั้น มีความชัดเจนว่า อาณาจักรศรีเกษตรถูกละทิ้งไปในปีพุทธศักราช 1199 เพื่ออพยพย้ายขึ้นไปสถาปนาเมืองหลวงใหม่ทางตอนเหนือ แต่ยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าเมืองดังกล่าวคือเมืองใด นักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่าเมืองดังกล่าวคือเมืองหะลินคยี อย่างไรก็ตามเมืองดังกล่าวถูกรุกรานจากอาณาจักรน่านเจ้าในราวพุทธศตวรรษที่ 15 จากนั้นก็ไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงชาวพยูอีก

อาณาจักรพุกาม : ความยิ่งใหญ่ของชาวพม่า
ชาวบะหม่าหรือพม่า ได้รับการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อราว พ.ศ.1500 โดยอพยพมาจากบริเวณพรมแดนจีน-ทิเบต ลงมาตามลำน้ำเอยาวดี (อิรวดี) เข้ามาตั้งหลักฐานอยู่บริเวณที่ราบเจ๊ะแส่ (เจ้าเซ) และกระจายตัวไปตามถิ่นต่าง ๆ แทบทุกทิศทาง เข้ายึดครองเขตพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า มินบู (Minbu) และเขตพื้นที่ปลูกข้าว ตองทวินคยี (Taungdwin gyi) และเมืองแปร (Prome) ชนพม่าเริ่มมีกำลังเข้มแข็งและรวบรวมกันได้เป็นปึกแผ่น และได้สร้างเมืองปะกั่น (พุกาม)ขึ้น ในราวปี พ.ศ. 1392 เป็นศูนย์กลางควบคุมเขตลุ่มน้ำเอยาวดี และซิตตาวน์ (สะโตง) รวมถึงเส้นทางการค้าระหว่างจีนกับอินเดียด้วย

อาณาจักรพุกาม (The Empire of Pagan) ถือเป็นอาณาจักรแห่งแรกที่รุ่งเรือง อย่างมากของพม่า ในช่วงปี พ.ศ. 1587 – 1830 เราสามารถเห็นร่องรอยแห่งความยิ่งใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่จากโบราณสถานต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั่วไปในเมืองพุกามปัจจุบัน จากการสำรวจพบว่า ในเมืองพุกาม มีซากเจดีย์อยู่ไม่น้อยกว่า 5,000 องค์ และเชื่อว่ามีวัดอยู่ภายในเมืองเก่านี้ไม่น้อยกว่า 13,000 วัดจนพุกามได้รับสมญานามว่า “ เมืองแห่งพระเจดีย์สี่ล้านองค์ ”

ทุ่งเจดีย์ที่พุกาม

กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และถือว่าเป็นผู้รวบรวมประเทศพม่าให้เป็นปึกแผ่นได้ครั้งแรก คือ พระเจ้าอโนรธา (พ.ศ. 1587 – 1620) ทรงรวบรวมได้ทั้งพม่า ยะไข่เหนือ พม่าใต้ และมอญ หลังจากที่ได้ทรงพิชิตเมืองสะเทิมของมอญได้ ทรงกวาดต้อนเชลยชาวมอญกลับมาพุกาม และรับเอาวัฒนธรรมมอญเข้ามาในราชสำนัก มีการใช้อักษรมอญจดบันทึกแทนการใช้ภาษาบาลี – สันสกฤต นอกจากนี้พระเจ้าอโนรธา ทรงรับเอาศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจากมอญเข้ามาเป็นศาสนาประจำชาติ และแพร่ขยายออกไปทั่วเอเชียอาคเนย์ ยุคทองของอาณาจักรพุกามอยู่ในสมัยของพระเจ้าญานสิทธา (พ.ศ. 1627 – 1656) ทรงเป็นพุทธมามกะที่เลื่อมใสในพระศาสนาอย่างยิ่งยวดศาสนสถานที่สำคัญในสมัยพระองค์คือ วัดอนันดาที่สวยงาม
วัดอนันดา

อาณาจักรพุกามรุ่งเรื่องอยู่จนถึงสมัยของพระเจ้านราสีหปติ(พระเจ้าหนีจีน) จึงเริ่มถึงความเสื่อม เนื่องจากถูกรุกรานจากทั้งทางแค้วนไทยใหญ่ (รัฐฉานปัจจุบัน) และในปี พ.ศ. 1830 อาณาจักรพุกามได้ถึงการล่มสลายเมื่อกองทัพมองโกลของกุบไลข่านได้ยกทัพเข้ามาปล้นเมือง หลังจากนั้น อาณาจักรที่เคยรวบรวมไว้ได้ ก็แตกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย ดังเช่น พวกมอญได้ตั้งตนเป็นอิสระ มีราชธานีใหม่คือหงสาวดี โดยพระเจ้าฟ้ารั่ว ชาวระไคน์ (ยะไข่) ตั้งตัวเป็นใหญ่แถบอ่าวเบงกอลขึ้นเหนือไปจนถึงเมืองจิตตะกอง (บังคลาเทศปัจจุบัน) ฝ่ายชาวไทยใหญ่ก็สถาปนาอาณาจักรของตนขึ้นในเขตพม่าเหนือ มีกรุงอังวะเป็นราชธานี ส่วนพวกพม่าได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งบริเวณเมืองสกายริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี (ปัจจุบันคือเมืองสกาย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของมัณฑเลย์) และบางส่วนอพยพมาอยู่ที่เมืองตองอู (ปัจจุบันยังคงใช้ชื่อเดิม ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของย่างกุ้ง)


ราว พ.ศ. 2094 - 2124 พระเจ้าบุเรงนอง ทรงผนวกเมืองต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อสถาปนาประเทศพม่าขึ้นอีกครั้ง นับเป็นครั้งที่ 2 และได้ทรงย้ายเมืองหลวงจากตองอูมาอยู่ ณ เมืองหงสาวดี หลังจากพระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคต พม่าอ่อนแอลงอย่างมาก ชาวมอญจึงฉวยโอกาสแข็งข้อ ลอบโจมตีจนพม่าต้องแตกพ่าย เสียเมืองหงสาวดีให้แก่มอญ ก่อนจะอพยพหนีมาอยู่ที่เมืองอังวะ ซึ่งก็ยังถูกมอญตามไปรุกรานอีก จนกระทั่งพระเจ้าอลองพญาในช่วงก่อนเสวยราชย์ ได้ทรงรวบรวมไพร่พลเข้าต่อสู้กับชาวมอญอย่างเข้มแข็ง จนชนะและได้เมืองอังวะกลับคืนมา พระองค์จึงปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์และสถาปนาราชวงศ์โคบ่องขึ้น หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงผนวกเมืองที่กระจัดกระจายเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสถาปนาประเทศพม่าอีกเป็นครั้งที่ 3
พระเจ้าบุเรงนอง

ในปี พ.ศ.2298 โดยมีอังวะเป็นเมืองหลวง เมื่อพระเจ้าอลองพญาเสด็จสวรรคต พระเจ้าโบดอว์พญา(ไทยเรียกพระเจ้าปดุง)โอรสของพระเจ้าอลองพญา ซึ่งขึ้นครองราชย์สืบต่อมาได้ทรงย้ายเมืองหลวงจากอังวะมาอยู่ที่เมืองอมรปุระ (บริเวณชานเมืองมัณฑเลย์ในปัจจุบัน) ครั้นถึงสมัยพระเจ้ามินดุง พระนัดดาของพระเจ้าโบดอว์พญา พระองค์ได้ทรงย้ายเมืองหลวงอีกครั้งมาอยู่ ณ เมืองมัณฑเลย์ (พ.ศ. 2204) เนื่องจากเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์กว่าที่อื่นๆ และปกครองสืบต่อมา จนกระทั่งถึงสมัยของพระเจ้าสีป่อ โอรสของพระเจ้ามินดุง ระบอบกษัตริย์ของพม่าก็ถึงจุดสิ้นสุด พม่าถูกอังกฤษรุกรานจนตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ และถูกผนวกเป็นรัฐหนึ่งของอินเดียในปี พ.ศ. 2409 เป็นเวลายาวนานกว่าร้อยปี และเมื่ออังกฤษย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ย่างกุ้ง มัณฑเลย์จึงแปรสภาพเป็นเพียงเมืองหลวงเก่าของพม่า ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นรบกับอังกฤษเพื่อยึดพม่าปรากฏว่าญี่ปุ่นชนะ จึงได้ปกครองพม่าเป็นเวลา 3 ปี จนเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่2อังกฤษจึงกลับมาปกครองพม่าในที่สุด

ต่ิอมาในปี พ.ศ. 2488 ได้มีกลุ่มชาตินิยมนำโดย นายพลอองซาน (บิดาของนางอองซาน ซูจี) ออง ซานพบว่าเอกราชที่ญี่ปุ่นสัญญาไว้ไม่เป็นความจริง ในช่วงปลายสงครามโลก จึงได้กลับไปเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากพม่า ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) อองซานเซ็นสัญญากับสหราชอาณาจักรว่าจะมอบเอกราชให้กับพม่าภายในหนึ่งปี แต่ระหว่างการประชุมสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ออง ซานถูกลอบสังหารพร้อมกับสมาชิกสภาอีก 6 คน โดยพบว่าเป็นฝีมือของ U Saw ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของออง ซาน ซึ่ง U Saw ถูกประหารชีวิต. ออง ซาน เสียชีวิตเมื่อมีอายุแค่เพียง 32 ปี และยังไม่ทันเห็นเอกราชของพม่า
อองซานใน พ.ศ. 2490


พม่าเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษเป็นผลสำเร็จ ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2491 จึงถือเอาวันนี้เป็นวันชาติของพม่า
Cr: http://www.2by4travel.com/home/Data-travel/myanma/prawatisastr-phma

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น