วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

ประวัติศาสตร์กัมพูชา

ประวัติศาสตร์กัมพูชา




บริเวณที่เป็นที่ตั้งของกัมพูชาในปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์สันนิฐานว่าเริ่มมีผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ (230-500 ปีก่อนคริสตกาล) โดยอาศัยหลักฐานเก่าแก่ คือ เครื่องมือหินกรวดที่ค้นพบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการค้นพบกระโหลกศีรษะและกระดูกมนุษย์ที่แหล่งโบราณคดีสำโรงเซน (Samrong Sen) ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่ากัมพูชาในยุคก่อนประวัติศาสตร์มีความคล้ายคลึงกับชาวกัมพูชาในปัจจุบัน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มออสโตรเอเชียติก (Astroasiatic)

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกัมพูชา
ประเทศกัมพูชามีหลักฐานทางโบราณคดีว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นดินแดนต้นกำเนิดของอาณาจักรโบราณหลายอาณาจักร ที่มีความเชื่อมโยงและมีความเป็นมาในประวัติศาสตร์ โดยแบ่งออกเป็นสมัยที่สำคัญ คือ

สมัยฟูนัน (Funan) เป็นห้วงเวลาที่ได้รับวัฒนธรรมจากศาสนาพราหมณ์ฮินดู ประเทศอินเดีย เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 นับถือพระศิวะ และพระวิษณุ (พระนารายณ์) มีการดัดแปลงตัวอักษรของอินเดียมาเป็นตัวอักษรเขมร ศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่มณฑล ไปรเวียงทางตอนใต้และลุ่มน้ำทะเลสาป รวมดินแดนที่เป็นของไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ในปัจจุบันบางส่วน ส่วนพลเมืองมีเผ่าฟูนัน เขมร และจามซึ่งมีอยู่ทั่วไปในบริเวณตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำโขง

สมัยเจนละ (พ.ศ.1078-1345) ในระหว่างที่อาณาจักรฟูนันมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่นั้น มีดินแดนที่เป็นเมืองขึ้นอยู่อาณาจักรหนึ่งซึ่งขอมเรียกว่า อาณาจักรเจนละ ชื่อ "กัมพูชา" เริ่มในยุคนี้เนื่องจากกษัตริย์สมัยเจนละ ชื่อว่า "กัมพู" อาณาจักรเจนละแบ่งดินแดนออกเป็นอาณาจักรย่อยๆ คือ อาณาจักรตอนเหนือชื่อ "กุมพูปุระ" อาณาจักรตอนใต้ชื่อ "วิชัยปุระ" ต่อมากษัตริย์ของกัมพูปุระองค์หนึ่งทำสงครามมีชัยชนะ แล้วส่งกองทัพไปตีอาณาจักรฟูนันได้สำเร็จ จึงรวมเข้ามาอยู่ในอาณาจักรเจนละ

อาณาจักรเจนละเจริญรุ่งเรืองอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาอาณาจักรศรีวิชัยได้แผ่อำนาจเข้าไปในอินโดจีน อาณาจักรเจนละจึงตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรศรีวิชัย


สมัยขอมหรือนครวัด (พ.ศ.1345-1735) เมื่อประมาณ พ.ศ.1345 กษัตริย์กัมพูปุระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า "พระเจ้าชัยวรมันที่ 2" ครองราชย์อยู่ระหว่าง พ.ศ.1345-1412 ได้รวบรวมอาณาจักรกัมพูปุระและวิชัยปุระเข้าด้วยกัน ตั้งเป็นอาณาจักรใหม่เรียกว่า "อาณาจักรขอม"

พระองค์ได้กู้อิสรภาพของอาณาจักรขอมจากอาณาจักรศรีวิชัยเป็นผลสำเร็จ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ตั้งอาณาจักรขอมและมีอำนาจมากสามารถแผ่กระจายอำนาจออกไปจนทำให้อาณาจักรขอมแผ่ขยายออกไปกว้างขวางกินพื้นที่ถึงหนึ่งในสามของอินโดจีนเป็นระยะเวลาประมาณ 400 ปี ราชวงศ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้ครองอาณาจักรขอมจนถึงปี พ.ศ.1420 จึงได้ขาดสายลง และได้มีราชวงศ์ใหม่

โดยมีปฐมราชวงศ์ คือ พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 มีราชโอรสเป็นพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.1432-1451 กษัตริย์องค์นี้ได้สร้างราชธานีขึ้นใหม่ที่นครธมต่อมาได้มีกษัตริย์อีกหลายราชวงศ์ จนถึงพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งครองราชอยู่ระหว่างปี พ.ศ.1655-1695 เป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจสูงสุดในประวัติศาสตร์ขอม พระองค์ได้ทรงให้สร้างนครวัด และทำสัญญาไมตรีกับจามและจีน

สมัยเป็นเมืองขึ้นของเมียนมาและไทย (พ.ศ.1600-2410) อาณาจักรขอมรุ่งโรจน์สูงสุด แล้วก็ค่อยๆ เสื่อมอำนาจลง เนื่องจากถูกเมียนมาสมัยพระเจ้าอโนรธามังช่อเข้ามารุกรานและยึดเป็นเมืองขึ้น ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าว อาณาจักรขอมยังไม่ยับเยินมากนัก ยังพอตั้งตัวได้ใหม่ในระยะอีกเกือบประมาณร้อยปี

ต่อมาจนถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชของไทย ขอมถูกขับไล่ออกจากดินแดนที่เป็นของประเทศไทยในปัจจุบันได้หมด อำนาจของอาณาจักรขอมได้หมดลงประมาณปี พ.ศ.1890 นับแต่นั้นมาอาณาจักรสยามก็รุ่งโรจน์ขึ้นแทนอาณาจักรขอมในดินแดนสุวรรณภูมิ


สมัยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส (พ.ศ.2400-2497) อาณาจักรกัมพูชาได้เสื่อมลงเป็นลำดับ จนตกเป็นประเทศราชของไทย ต่อมาฝรั่งเศสได้เข้ามารุกรานและแสวงเมืองขึ้นอินโดจีน กัมพูชาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ.2406 กัมพูชาถูกควบคุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ในปี พ.ศ.2407 รัชกาลสมเด็จพระนโรดมบรมรามเทวาวตารได้ทรงย้ายราชธานีของกัมพูชาจากกรุงอุดงค์มีชัยมาตั้งอยู่ที่กรุงพนมเปญ ต่อมาในปี พ.ศ.2410 ฝรั่งเศสได้บีบบังคับให้ไทยทำสัญญายินยอมรับรองอำนาจของฝรั่งเศสในการคุ้มครองอารักขากัมพูชา

หลังสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อปี พ.ศ.2488 ฝรั่งเศสกับกัมพูชาได้ทำความตกลงเมื่อปี พ.ศ.2489 ให้กัมพูชาปกครองดินแดนตนเอง โดยรวมอยู่ในสหภาพฝรั่งเศส กัมพูชาได้จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ.2490

เมื่อปี พ.ศ.2497 ฝรั่งเศสปราชัยในการรบกับเวียดมินห์ ที่เมืองเดียนเบียนฟู เป็นเหตุให้ต้องเปิดการประชุม 14 ชาติ ที่เมืองเจนีวา เพื่อนำสันติภาพมาสู่อินโดจีน ความตกลงเจนีวาในครั้งนั้นกำหนดให้ฝรั่งเศสมอบเอกราชแก่เวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชา กัมพูชาจึงได้เป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ โดยมีสมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงเป็นกษัตริย์ในช่วงรอยต่อของประวัติศาสตร์

ครั้งถึง ปี พ.ศ.2498 ทรงสละราชสมบัติ แต่ยังกุมอำนาจไว้ในฐานะนายกรัฐมนตรี ประมุขของประเทศ และประธานาธิบดีในปี พ.ศ.2513 นายพลลอน นอล ก่อรัฐประหาร สมเด็จพระนโรดมสีหนุต้องเสด็จลี้ภัยไปยังปักกิ่ง และได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับคอมมิวนิสต์เขมรแดง เมื่อรัฐบาลเขมรแดงยึดอำนาจได้ในปี พ.ศ.2518 จึงทรงเสด็จกลับคืนสู่พนมเปญ แต่พระองค์กลับถูกพันธมิตรกักตัวไว้ หลังเวียดนามขับไล่รัฐบาลเขมรแดงออกไปในปี พ.ศ.2522 พระองค์ทรงตั้งตนเป็นประธานาธิบดีพลัดถิ่นของแนวร่วมต่อต้านเวียดนาม ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีนและเกาหลีเหนือ

สงครามในกัมพูชาที่เรียกว่า "สงครามเขมรสามฝ่าย" ได้ยุติลงจนสหประชาชาติเข้าไปช่วยเหลือจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2536 ซึ่งพรรคของสมเด็จพระนโรดม รณฤทธิ์ ชนะเลือกตั้งแต่ทางฝ่ายสมเด็จฮุน เซน ไม่ยอมรับ แต่ในที่สุดก็เกิดการประนีประนอมตั้งรัฐบาลร่วมกัน ประเทศกัมพูชาจึงเป็นประเทศแรกในโลกที่มีหนึ่งรัฐบาลแต่มีสองนายกรัฐมนตรี คือ สมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ และสมเด็จ ฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันสมเด็จฮุน เซน ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา

Cr: http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=2531&filename=index

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น